นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไทย ที่ผ่านมา กพร. มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรการจัดการ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ทั้งระดับปฏิบัติการ ระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร หลักสูตรสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หลักสูตร Global Supply Chain Executive Program หลักสูตรการบริหารการจัดซื้อจัดหาและ ซัพพลายเชน และหลักสูตรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์ และปีนี้ กพร. ได้เริ่มสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาค เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ออกมาป้อนตลาด ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและยังขาดแคลนอยู่
ดังนั้น กพร. โดยสำนักโลจิสติกส์ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคการศึกษาเชื่อมโยงความรู้โลจิสติกส์สู่ชุมชน หรือ โลจิสติกส์ คอนเน็ค เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ไปสู่สถาบันการศึกษาในทุกภูมิภาค และในอนาคตจะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากสถาบันการศึกษาสู่ตลาดแรงงานอย่างแท้จริง
สำหรับเป้าหมายของโครงการในปีแรก หรือปี 2557 ได้เน้นสร้างเครือข่าย โดยการฝึกอบรมให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค โดยกำหนด 3 จังหวัด นำร่อง ได้แก่ จังหวัดลพบุรีเป็นตัวแทนภาคกลาง จังหวัดสงขลาเป็นตัวแทนภาคใต้ และปิดท้ายด้วยกรุงเทพมหานคร โดยทำการฝึกอบรมบุคลากรทางวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษารวม 300 คน จากทั้ง 3 จังหวัด ก่อนจะขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ในปีต่อไป
“กพร. ต้องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านโลจิสติกส์ ว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น การจัดซื้อจัดหา การวางแผนและควบคุมการผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การขนส่ง คลังสินค้า รวมถึงการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวได้ว่า แค่ผลิตดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการจัดการโลจิสติกส์ที่ดีด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันบุคลากรด้านโลจิสติกส์ เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน และยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ ดังนั้นหากสามารถสร้างเสริมความรู้ของบุคลากรได้ตั้งแต่อยู่ในระดับอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งมีหลักสูตรด้านนี้อยู่แล้ว โดยการเพิ่มความเข้มข้นและเสริมรายละเอียดในทางปฏิบัติให้มากขึ้น ก็จะสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงตามความต้องการตลาดมากขึ้น
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กพร. กล่าวว่า นอกจากการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาบุคลากรแล้ว สำนักโลจิสติกส์ ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานวิชาชีพบุคลากร และที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาบุคลากร ในด้านนี้อย่างจริงจัง โดยจะต้องกำหนดใบรับรองที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้
นอกจากนั้น ในการกำหนดใบรับรองมาตรฐานระดับผู้ปฏิบัติงาน ได้ให้ความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ วางหลักสูตรการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ มีการสอบวัดพื้นฐานตามลำดับขั้นแบบสากล เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพด้านโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม
“คำว่าโลจิสติกส์กินความหมายกว้างมาก แค่เรื่องสินค้าคงคลัง คลังสินค้า การขนส่ง ที่มองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก็ต้องมีบุคลากรเข้ามาดูแลจัดการให้เป็นระบบอย่างมีมาตรฐาน การมีบุคลากรที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้ความร่วมมือทางธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางอนงค์ กล่าว
สำหรับโครงการโลจิสติกส์ คอนเน็ค ถือเป็นการเริ่มต้นโครงการสร้างเครือข่ายและฝึกอบรมบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ในปีแรก มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรวิชาการ และอาจารย์สถาบันการศึกษา เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายองค์ความรู้ต่อไปให้กับนักเรียน นักศึกษาในวิชาชีพนี้ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th