วันนี้ (27 พ.ย. 57) เวลา 16.05 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ณ สำนักนายกรัฐมนตรีเวียดนาม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามมีความใกล้ชิดและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายหลังการประกาศความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ทั้งนี้ในปี 2559 ไทยและเวียดนามจะครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต
ด้านการค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2020 ทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินหน้าหาช่องทางในการขยายการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันให้มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างกันมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ ข้าวและยางพารา ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ดูแลนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมาโดยตลอด และขอเสนอให้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนสองฝ่ายพิจารณาจัดตั้งกลไกหรือคณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองด้านการลงทุนระหว่างกัน เพื่อใช้ความตกลงด้านการลงทุนที่มีอยู่ เช่น ความตกลงคุ้มครองการลงทุน และอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนให้ได้ประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมให้ธนาคารไทยมาเปิดสาขาในเวียดนามมากขึ้น
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่ทราบว่า รัฐบาลเวียดนามอนุมัติให้บริษัท ปตท. ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีในเขตเศรษฐกิจเญินโห่ย จ. บิ่งห์ดิ่งห์ รวมทั้ง บริษัท EGAT I ของไทยเข้ามาลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานทั้งในไทย เวียดนามและภูมิภาค
ด้านการเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยทำให้การรวมกลุ่มของอนุภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ โดยให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R8 R9 และ R12 เชื่อมต่อไทย ลาวและเวียดนามโดยฝ่ายไทยขอเสนอให้เปิดบริการรถโดยสาร ในเส้นทางระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับภาคกลางของเวียดนาม ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการค้าและการลงทุนแล้ว ยังจะเพิ่มการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคโดยรวมด้วย นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีสนับสนุนให้สายการบินต้นทุนต่ำเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของสายการบินเองและช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ รวมทั้งให้มีการพัฒนาการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการท่องเที่ยวระหว่างกัน
สำหรับสถานการณ์ทะเลจีนใต้ ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน - จีน ไทยมุ่งส่งเสริมให้การเจรจาจัดทำ COC มีความคืบหน้า และส่งเสริมให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันเพื่อความสงบในพื้นที่และในภูมิภาค
โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนไทยอย่างเป็นทางการและเป็นประธานร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ที่ฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้คณะรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนในด้านต่าง ๆ
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ตอบรับคำเชิญของนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าร่วมการประชุม GMS ที่จัดขึ้นในไทย และร่วมเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ในต้นปีหน้า
สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เวียดนามพร้อมที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก และเหนือ-ใต้ รวมทั้งความร่วมมือในมิติอื่นๆ ทั้ง การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า พร้อมจะสนับสนุนไทยในทุกเวที ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาคและภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ที่มีความเข้มแข็งในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างสร้างสรรคแก่อาเซียน และภูมิภาคโดยรวม
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแผนปฏิบัติการและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ คือ 1. แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม 2. แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนว่าวัฒนธรรมไทย – เวียดนาม 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับนครเกิ่นเทอ
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th