“ตูน บอดี้สแลม” เยือนกระทรวงวิทย์ฯ ร่วมไขปริศนาฟ้าผ่า ในเวทีคุยกัน...ฉันท์วิทย์

ข่าวทั่วไป Tuesday November 25, 2014 16:19 —สำนักโฆษก

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2557) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ “ไขปริศนา..ฟ้าผ่า ตูน บอดี้สแลม…รอดปาฏิหาริย์” พร้อมดึงร็อกเกอร์หนุ่มขาเดฟมาดเซอร์ ร่วมพูดคุยหลังถูกฟ้าผ่าขณะเตรียมงานคอนเสิร์ต ที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม) ร่วมสนทนา ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับทีมประชาสัมพันธ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันวิทย์ โดยมีคุณอาทิวราห์ คงมาลัย (หรือคุณตูน บอดี้สแลม) มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ที่เคยเจออุบัติเหตุถูกฟ้าผ่า แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ คุณตูนไม่ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งเวทีเสวนาคุยกัน...ฉันวิทย์ วันนี้จะอธิบายด้วยทฤษฎีและหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผู้ร่วมฟังเสวนา และสื่อมวลชนจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกับการเกิดฟ้าผ่า อันตรายจากฟ้าผ่ารวมถึงวิธีป้องกันตนเองเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุดังกล่าวได้อย่างถูกวิธียิ่งขึ้น

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ฟ้าผ่าว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่เป็นการปลดปล่อยประจุออกจากเมฆฝนฟ้าคะนองหรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” หรือ เมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่มหึมา บริเวณฐานเมฆสูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆอาจสูงได้ถึง 20 กิโลเมตรภายในก้อนเมฆมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า

ทั้งนี้ ทุกๆ บริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ฯลฯ และจุดที่สูงในบริเวณนั้นๆ เช่น ต้นไม้ อาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น นอกจากฟ้าผ่าจากก้อนเมฆลงสู่พื้นจะเป็นอันตรายต่อคนมากที่สุดแล้ว ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น ยังถือเป็นภัยจากฟ้าผ่าอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอันตรายต่อคนได้ แต่ประชาชนกลับยังไม่ค่อยรู้จักนัก ส่วนกรณีของโลหะและโทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าได้แน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวน้ำได้ แต่ก็ไม่สมควรใช้โทรศัพท์มือถือในสภาวะที่เกิดฝนฟ้าคะนองเพราะหากน้ำเข้าโทรศัพท์ก็มีโอกาสทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้

นอกจากนี้ วิธีการสังเกตการเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นมีกฎจำ ง่ายๆ ที่เรียกว่า กฎ 30/30 เป็นข้อปฏิบัติที่ทหารใช้กัน โดยเลข 30 ตัวแรกมีหน่วยเป็นวินาที ซึ่งหมายถึง หากเห็นฟ้าแลบ แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากเพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที ส่วนเลข 30 ตัวหลังมีหน่วยเป็นนาที ซึ่งหมายถึง หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (นั่นคือ ฝนหยุด และไม่มีเสียงฟ้าร้อง) ซึ่งควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่า เมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว

นายอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม) เล่าว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ประสบเหตุการณ์ฟ้าผ่ากลางลานคอนเสิร์ต ซึ่งได้ถือร่มในขณะที่มีฝนตกปรอยๆ จากนั้นได้เกิดประกายไฟที่มือพร้อมกับมีเสียงคล้ายๆ ประทัด โดยได้สัมภาษณ์จากทีมงานที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งทีมงานเห็นว่ามีประกายไฟลักษณะเหมือนสายฟ้าฟาดลงมาที่ต้นไม้ และร่มที่ ตูน ถืออยู่ ประกายไฟนั้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่ง ทั้งนี้ ดร.บัญชาฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีนี้ว่า ผลกระทบจากฝนฟ้าคะนองที่ส่งผลให้เกิดฟ้าผ่า ลักษณะการผ่าในกรณีของ ตูน นั้นเป็นเหมือนรากไม้ที่แตกแขนงเป็นกิ่งหลายๆ เส้น ซึ่งเส้นหลักนั้นมีกระแสสูงเป็นหมื่นแอมป์ ถ้าถูกผ่าโดยตรงๆ มนุษย์ทุกคนไม่สามารถรอดได้ แต่ในลักษณะของ ตูน อาจโดยสายฟ้าที่เป็นกิ่งแขนงของเส้นหลัก ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ ในระดับเล็กๆ จึงส่งผลให้ ตูน ได้รับกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายจึงทำให้ ตูน ไม่ได้รับอันตรายใดๆ

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าฟ้าผ่าในระยะไกลจากก้อนเมฆได้ถึง 40 กิโลเมตร หากฟ้าผ่าลงโครงสร้างอาคารที่ไม่มีระบบป้องกันฟ้าผ่าหรือเสาล่อฟ้า จะทำให้เกิดประกายไฟกระเด็นได้ไกลถึง 3 เมตร ในขณะที่สายฟ้าผ่าลงมาเป็นรากไม้อาจยาวได้ถึง 50 เมตร ดังนั้นโลหะหรือวัตถุเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่า จึงไม่สามารถล่อฟ้าผ่าได้

http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4089-2014-11-25-08-24-19.html

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) :

คุณสรินยา (แน็ท) 081-988-6614 คุณชัชวาลย์ (ชัชกี้) 083-032-5145 หรือ 02-564-7000 ต่อ 71730, 71727

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ