ปรับแนวทางการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 5
รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มีการหารือในที่ประชุมองค์กรหลัก เกี่ยวกับแนวคิดการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (One District One Scholarship : ODOS) ซึ่งที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ยังไม่มีความเข้มงวด อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กบางคนขาดความเหมาะสมในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนเกิดเป็นปัญหาในเรื่องของการเรียน ซึ่งหากจะเริ่มดำเนินการในรุ่นที่ 5 ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้รัฐบาลได้รับประโยชน์คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือก 2 ประการ ดังนี้
1) การคัดเลือกจากครอบครัวยากในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่จำกัดจำนวนทุนในแต่ละอำเภอ หากในอำเภอใดๆ มีเด็กยากจนที่สามารถสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดมากกว่า 1 คน ก็สามารถได้รับมากกว่า 1 ทุน ในขณะที่ในบางอำเภออาจจะมีเด็กยากจนแต่ไม่สามารถสอบผ่านเกณฑ์ อำเภอนั้นอาจไม่ได้รับทุนเลยก็ได้
2) การส่งเสริมให้ไปเรียนสายอาชีวศึกษา ที่ผ่านมา ศธ.ไม่ได้กำหนดสาขาวิชาหรือประเทศที่เด็กจะไปศึกษาต่อ รวมทั้งการใช้ทุนคืน ดังนั้น หากจะดำเนินการโครงการนี้ต่อไป ควรจะทำสัญญากับเด็กเพื่อชดใช้ทุนภายหลังจบการศึกษา ซึ่งเด็กอาจจะกลับมาทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือกลับมาเป็นครูซึ่งตรงกับความต้องการของ ศธ. ที่ต้องการให้เด็กเหล่านี้ได้กลับมาถ่ายทอดความรู้ ทักษะภาษา ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนในต่างประเทศในสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมา มีนักศึกษาสายอาชีวะได้รับทุนนี้เพียงคนเดียว ประกอบกับแหล่งทุนสายอาชีวะจากหน่วยงานอื่นๆ มีจำนวนน้อยมาก ในขณะที่นักเรียนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนส่วนใหญ่ไปเรียนสายสามัญ อีกทั้งในสายสามัญยังมีแหล่งทุนของหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงมีแนวคิดที่จะเน้นให้ทุนในสายอาชีวะ ซึ่งจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเด็กที่มีความสามารถเพียงพอและสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อเด็กที่ได้รับทุนมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาเรียนไม่มากนัก และกลับมาทำงานสร้างรายได้แก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนถึงเป็นโอกาสอันดีที่เด็กจะได้เรียนสายอาชีพในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง และนำความรู้กลับมาทำงานให้กับรัฐเมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้ หากเด็กมีขีดความสามารถที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ศธ.ก็ยินดีสนับสนุนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาเป็นหนทางที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้รวดเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ประเทศมีความต้องการกำลังคนสายอาชีวะจำนวนมาก ทั้งภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้า และเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่จบสายอาชีวะโดยตรงจากต่างประเทศ จึงควรปรับแนวทางการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จึงได้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่เด็กจะไปเรียน ระยะเวลาเรียน และงบประมาณที่จะใช้ทั้งในหลักเกณฑ์เดิมและหลักเกณฑ์ใหม่ เมื่อร่างหลักเกณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
การจัดทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ประจำปีการศึกษา 2557 ของ สทศ.
รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินการจัดระบบการทดสอบของประเทศ หน่วยงานที่จัดสอบต้องมีความรอบคอบและดูแลอย่างรัดกุม และหากมีความบกพร่องจุดใดในการจัดสอบ ก็ควรมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในส่วนของการยกร่างพระราชบัญญัติการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติของ สทศ. ที่กำหนดให้การทุจริตการสอบทุกประเภทมีความผิดทางกฎหมายในคดีอาญานั้น ส่วนตัวเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะในเรื่องของการสอบ แต่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดของกฎหมายก่อนว่า บทลงโทษมีความรุนแรงหรือมีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สทศ.เองก็ไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบโดยการหาความจริง หาสาเหตุของปัญหา และสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อหาสาเหตุเจอก็จะสามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไปได้
ของขวัญปีใหม่ของ ศธ.
รมว.ศธ.ได้เปิดเผยถึงของขวัญปีใหม่ที่ ศธ.เตรียมมอบให้กับประชาชนในปี 2558 ด้วยว่า ศธ.จะมอบความรู้ให้เป็นของขวัญปีใหม่กับคนไทย โดยให้สถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และวิทยาลัยชุมชน (วชช.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการทำอาหาร การเย็บปักถักร้อย งานประดิษฐ์ ว่ายน้ำ การซ่อมไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจได้เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 26/11/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th