โครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน สำหรับประเทศไทยนี้ มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือ และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ภายใต้กรอบการดำเนินโครงการ SWITCH Asia เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production หรือ SCP) ในภูมิภาคเอเชียโดยมีผู้ร่วมดำเนินการฝ่ายไทยประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.)ซึ่งคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ศูนย์เพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนแห่งวุฟแพร์ไทล์ (Wuppertal Institute Collaborating Centre on Sustainable Consumption and Production (CSCP)) เป็นคณะที่ปรึกษาโครงการ
โครงการความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเลือก ปรับใช้ และดำเนินการตามเครื่องมือเชิงนโยบาย เช่น กฎระเบียบ และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม ในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว ภายใต้โครงสร้างและกรอบนโยบายที่ชัดเจน มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีประสิทธิผลสูงสุด โครงการฯ ได้แบ่งกิจกรรมหลักเป็น ๔ องค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบที่ ๑ ประกอบด้วยการศึกษาทบทวนนโยบาย และโครงสร้างหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การสร้างระบบการติดตาม และการรายงานผลการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการหลัก
องค์ประกอบที่ ๒ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืนผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน มีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการหลัก
องค์ประกอบที่ ๓ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตอย่างยั่งยืนผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินการหลัก
องค์ประกอบที่ ๔ เป็นการสร้างความตระหนักด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น มีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการหลัก
โดยหน่วยงานดำเนินการฝ่ายไทยได้ทำงานประสานกันตลอดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ และขับเคลื่อนงานผ่านคณะดำเนินงานโครงการร่วมของทั้ง 5 หน่วยงาน การดำเนินงานสามารถขับเคลื่อนนโยบายและนำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์หลายประการ อาทิ เช่น (1) การนำเสนอตัวชี้วัดสำหรับนำร่องในส่วนของการผลิต การบริโภค และความตระหนักด้าน SCP (2) การนำประเด็นเรื่อง SCP ไปสู่ท้องถิ่น และมีการรณรงค์สร้างความตระหนักอย่างมีส่วนร่วมเกี่ยวกับ SCP ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (3) การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการนำการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค ตระหนักและเข้าใจถึงหลักการดังกล่าวแล้ว การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในสังคมไทย จะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
งานสัมมนาสรุปบทเรียนจากโครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน - ด้านนโยบายสนับสนุน สำหรับประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 6 โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อสรุปบทเรียนและสรุปผลการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลที่ผ่านมา พร้อมเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อร่วมหาแนวทางการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ต่อไป กิจกรรมในงานประกอบไปด้วย การเสวนา ในหัวข้อ “หลายมือ ร่วมสร้าง SCP” และการเสวนา ในหัวข้อ “เดินหน้า SCP ในสังคมไทย” โดย ดร.ปัญจพร เสชยันต์วิวัฒน์ และผัแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอบทเรียน กลยุทธ์ทางออกของโครงการ และแนวทางในการขยายผล SCP expansion to other sectors by Assoc. Prof.Dr. Thumrongut Mungchareon เป็นต้น
ขอบคุณที่พิจารณาเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มสื่อสารสิ่งแวดล้อม กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โทรศัพท์ : 0-2298-5630, 0-2278-8400 ต่อ 1555-1556
ที่มา: http://www.thaigov.go.th