อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2014 13:05 —สำนักโฆษก

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดงาน "อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย" ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2557 โดยได้รับเกียรติจากนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการปาฐกถาพิเศษในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง "ผู้เรียนอาชีวศึกษาคือผู้ทรงคุณค่าของสังคม"

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวรายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคนในฐานะที่เป็นทุนมนุษย์ และเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนาประเทศในปัจจุบันต้องพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนระดับกลางและระดับสูง ให้มีความรู้และทักษะ มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักและเห็นความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา จึงมีนโยบายให้ สอศ.มีหน้าที่ผลิตกำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของทุกภาคส่วน การจัดทำร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เชื่อมโยง แสวงหาเครือข่ายในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดอาชีวศึกษาให้ตอบสนองบริบทของทุกภูมิภาคอย่างแท้จริง ระบบคุณวุฒิวิชาชีพและการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการซึ่งเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและบริการของประเทศ

การจัดงานมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทวิภาคีให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ งานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งเชิญชวนสถานประกอบการให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับกำลังคน ด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้เชิงทฤษฎี ควบคู่กับการฝึกทักษะเชิงปฏิบัติในสถานประกอบการจากการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะตามความต้องการของสถานประกอบการ สอศ.ได้ดำเนินโครงการมาระยะหนึ่งแล้วและมีความก้าวหน้าด้วยดี จึงได้มีการจัดงานในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สถานประกอบการ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็น เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่รูปแบบการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของภูมิภาคอาเซียนที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยต่อไป อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของการจัดการอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคีที่มีปริมาณและคุณภาพสู่มาตรฐานสากล

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ ประมาณร้อยละ 35 : 65 เท่านั้น แต่นโยบายของรัฐบาลต้องการให้เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษามากขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันการเรียนในระดับอาชีวศึกษาสามารถเรียนได้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรจนถึงปริญญาบัตร นอกจากนี้ในการส่งเสริมอาชีวศึกษา จะต้องปรับกลยุทธ์ด้านครูผู้สอน เพื่อให้ครูเก่งๆ เข้ามาสอนในระดับอาชีวศึกษาได้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีการประสานความร่วมมือ เช่น ระบบทวิภาคี และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สอศ.ได้ร่วมมือกับหลายประเทศชั้นนำของโลก อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ จีน เป็นต้น

นอกจากนี้ เราต้องมีพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึง สอศ.ก็มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้มีความสามารถด้านการประดิษฐ์ คิดค้นเชิงเทคโนโลยี ด้วยการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning หรือการจัดให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จริงในการปฏิบัติงาน เช่น โรงเรียนแม่อายวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ที่ทำงานร่วมกับบริษัททางด้านไหม ฝ้าย โดยให้นักเรียนไปทำงานด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ

กล่าวโดยสรุปคือ ควรจัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนนักศึกษามีประสบการณ์จริงในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการภาคเอกชนบางแห่งสามารถจัดตั้งสถานศึกษาขึ้นมาเอง โดยรัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หรือการให้ความสำคัญกับการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning) ให้มากขึ้น เช่น อาจจะให้ผู้เรียนทำงานในโรงงานเป็นเวลา 9 เดือน ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนหนังสือเพิ่มเติมได้ในช่วงเย็นๆ จากนั้นกลับไปเรียนต่อในสถานศึกษาอีก 3 เดือน หรือการมี Practice School ที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสไปฝึกประสบการณ์การทำงานจริง โดยมีอาจารย์ผู้สอนเข้าไปร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งเราเรียกการจัดการเรียนการสอนในทำนองนี้ว่าเป็นการฝึกทักษะอาชีวศึกษา

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน 27/11/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ