กระทรวงศึกษาธิการ จัดงาน "อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย"

ข่าวทั่วไป Monday December 1, 2014 11:09 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผู้เรียนอาชีวศึกษา คือผู้ทรงคุณค่าของสังคม” พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางการสนับสนุนการอาชีวศึกษาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสถานประกอบการชั้นนำ (CEO) และเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารสถานประกอบการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักศึกษา เข้าร่วมในงานจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งความสุข เพราะมองเห็นอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินหน้าประเทศไทยในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการดำเนินการเพื่อเดินหน้าประเทศไทยจะต้องใช้การมองจากภายนอกเข้ามา เพื่อจะได้เห็นว่าประเทศไทยมีดีอย่างไรบ้าง ความท้าทายของประเทศไทยคือ การผลิตแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของชาติและของโลก ประเทศไทยมีความได้เปรียบหลายประเทศในเรื่องสภาพทางภูมิศาสตร์ คือ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการติดต่อและเชื่อมโยงในภูมิภาค จึงต้องมีการเร่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และประชาคมอื่นด้วย

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควรเริ่มจากตนเอง โดยอาจใช้โอกาสนี้ปฏิบัติตนตามค่านิยมหลัก 12 ประการ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เคารพพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้แล้ว ครอบครัวก็จะมีความสุข นำไปสู่สังคมและประเทศชาติที่มีความสุข และมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ขอให้ ศธ.สร้างทัศนคติ มุมมอง กระบวนการคิด และวิสัยทัศน์ให้กับผู้เรียน สอนให้ผู้เรียนคิดเป็น ให้ผู้เรียนทราบว่าต้องการทำอาชีพใดในอนาคต หากสาขาที่เลือกเรียนไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ก็สามารถเปลี่ยนสาขาวิชาได้ แต่อย่าออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากการศึกษาทำให้คนมีความรู้ รู้ทันต่อโลกภายนอก และรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี คือการจับคู่กันกับสถานประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ประชาชน และนิสิตนักศึกษา ต้องเดินไปด้วยกัน สร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยใช้การบูรณาการ คือการทำให้เกิดความร่วมมือ นำไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ขณะนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก จึงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สถานศึกษาอาชีวศึกษากว่า 400 แห่ง กำหนดมาตรฐาน มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้กับผู้เรียน มีการรับประกันการทำงาน ในการฝึกอบรม ต้องการให้มีครูเดินทางไปร่วมฝึกพร้อมกับนักศึกษาด้วย เพื่อศึกษาการเรียนการสอนของสถานประกอบการ และนำมาปรับปรุง จัดทำหลักสูตร การจับคู่สถานศึกษากับสถานประกอบการต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีการทำแนวทาง หรือ Master plan ในการจับคู่ หากเป็นไปได้ ควรจะมีรายได้ให้กับนักศึกษาในระหว่างการฝึกอบรม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ

การอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายแล้ว ยังเป็นการสร้างความรักสามัคคี มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสร้างคนให้เหมาะสมกับงาน ให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกันได้ และควรจะมีหลักสูตรระยะสั้น 2-3 เดือน สำหรับผู้ที่จบการศึกษาแล้วแต่ยังไม่มีงานทำ เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้กับผู้เรียน

ทั้งนี้ การเดินหน้าประเทศไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่เชื่อถือของประชาคมโลก เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นิสิตนักศึกษาทุกคน เพื่อขจัดความขัดแย้ง และการทะเลาะเบาะแว้ง ต้องลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน ด้วยการใช้กฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ มีความเห็นว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ทรัพยากรมนุษย์มีคุณค่า ซึ่งการอาชีวศึกษามีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

29/11/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ