สธ.เผยทั่วโลก เผชิญปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา “อาร์ติมิซินิน ” สูงขึ้น พบร้อยละ 10

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2014 16:36 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุขไทย รวมกับองค์กรมาลาเรียนานาชาติ จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขโรคมาลาเรียระดับโลก เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศ เพื่อกวาดล้างให้มาลาเรียหมดไปจากโลกภายในพ.ศ. 2583 เผยสถานการณ์มาลาเรียล่าสุดทั่วโลกปีละ 207 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 600,000 รายส่วนใหญ่อยู่ในอาฟริการและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาที่น่าห่วงคือพบเชื้อดื้อยา “อาร์ติมิซินิน” สูงขึ้นถึงร้อยละ 10 มากที่สุดที่กัมพูชา ต้องเร่งควบคุม ป้องกันเชื้อดื้อยาแพร่กระจาย

วันนี้ (3 ธันวาคม 2557) ที่ โรงแรมโฟร์ซีซัน กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรระหว่างประเทศอาร์บีเอ็ม เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียทั่วโลก (Roll Back Malaria Partnership: RBM) ครั้งที่ 27 ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมกับองค์กรมาลาเรียนานาชาติ เป็นเจ้าภาพ โดยมีดร.ฟาตูมาทา นาโฟ-ทราโอเร ผู้อำนวยการใหญ่อาร์บีเอ็ม เป็นประธานการประชุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และตัวแทนจากเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขไทย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประมาณ 120 คน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายทิศทางแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียทั่วโลก ให้เป็นทิศทางเดียวกันสอดคล้องกับบริบทแต่ละประเทศ โดยตั้งเป้ากวาดล้างโรคนี้ให้หมดไปจากโลกภายในพ.ศ.2583

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า โรคมาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขประจำภูมิภาคเขตร้อน มากกว่า 100 ปี รายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี 2555 พบผู้ป่วยมาลาเรียทั่วโลก 207 ล้านราย เสียชีวิต 627,000 ราย อันดับ 1 คือ ทวีปแอฟริกา มีผู้ป่วยร้อยละ 80 รองลงมา คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คือ สายพันธุ์พลาสโมเดียมไวแว็กซ์ (Plasmodium Vivax) ร้อยละ 80 รองลงมา คือ สายพันธุ์พาสโมเดียมฟาลซิฟารั่ม (Plasmodium Falciparum) มียุงก้นปล่องเป็นตัวแพร่เชื้อ จากการประเมินสภาพปัญหาพบว่าจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงทุกประเทศ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือพบปัญหาเชื้อดื้อยาที่ใช้รักษาได้ผลดีมากคือยากลุ่มอาร์ติมิซินินและอนุพันธ์อาร์ติมิซินิน พบได้เฉลี่ยร้อยละ 10 ในบางประเทศ พบมากที่สุดที่ประเทศกัมพูชา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดนี้แล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายด้วยยาสูตรปกติได้ โอกาสเสียชีวิตจะสูงขึ้น และอาจแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆจะทำให้ปัญหาหวนกลับมาแพร่ระบาดได้อีก ซึ่งขณะนี้ไทยพบปัญหานี้เช่นกัน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกินยาไม่ครบสูตร

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา ไม่สามารถจัดการได้เองโดยลำพังในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมปัจจัยการแพร่ระบาดได้คือการเคลื่อนย้ายประชากร และยุงก้นปล้องที่อยู่ในป่าเขา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกลไกการดำเนินงานร่วมกับประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นในแนวเดียวกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนงบในการป้องกันควบคุมโรค จากแหล่งทุนอื่นๆ อาทิ กองทุนโลก (Global Fund) องค์กรยูเสด (USAID) ซึ่งประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาตามแนวชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนาแนวทางรักษาในรายที่ดื้อยาอาร์ติมิซินิน โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการทดลองใช้ยาสูตรแก้ปัญหาดื้อยาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและใช้มาหลายพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นสูตรผสม 3 ชนิด ได้แก่ อาร์ติซูเนต เมฟโฟควิน และไพรมาควิน พบว่าได้ผลดี นอกจากนี้ยังได้มีการใช้ยาสูตรอื่นๆ ซึ่งจะทำการประเมินผลในปลายปีหน้า และจะนำผลการศึกษาเข้าที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรีย เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติใช้รักษาผู้ป่วย ยาชนิดนี้จะใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในคลินิกหรือร้านขายยาทั่วไป เพื่อควบคุมการใช้โดยแพทย์ ป้องกันการดื้อยา นอกจากนี้ประเทศยังมีโครงการอบรมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า เวียดนาม ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ การจัดการโรคมาลาเรียภาคสนาม (Management of Malaria Field Operations 2010 (MMFO)) และหลักสูตรการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่มีอาการรุนแรง (Severe Case Management) ดำเนินการโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีชื่อเสียงมาก และไทยมีความพร้อมร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างเป้าหมายในการป้องกันและกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป

ทั้งนี้สถานการณ์มาลาเรียในประเทศไทย ปี 2557 สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่ 1 มกราคม – 14 พฤศจิกายน 2557 พบว่ามีผู้ป่วยมาลาเรียสะสมรวม 26,940 ราย เป็นชาวไทย 20,612 ราย และต่างชาติ 6,328 ราย พบในพื้นที่ชายแดน โดยลดลงกว่าปี 2556 ประมาณร้อยละ 17 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 23 ซึ่งติดเชื้อจากการเข้าไปหาของป่า และเป็นเกษตรกร จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี ยะลา ตาก สงขลา สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และเพชรบุรี มีผู้ป่วยรวมกัน 17,843 ราย คิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ

3 ธันวาคม 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ