นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากปริมาณของขยะพลาสติกในแต่ละปีที่มากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 400 ปี จึงจะย่อยสลายได้นั้น นับเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก วว. ได้ตระหนักอย่างยิ่งถึงปัญหานี้ จึงได้มุ่งวิจัยและให้บริการทดสอบพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradability Testing Laboratory) 2.การบริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก 3.การวิจัยและพัฒนาวัสดุประเภทพลาสติกชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม และ 4.การบริการเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้ก้าวไกลสู่อาเซียนและเวทีนานาชาติ อันจะนำมาซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของโลกในที่สุด
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradability Testing Laboratory) ที่ วว. จัดตั้งนั้นให้บริการที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล มีค่าบริการทดสอบต่ำกว่าของต่างประเทศกว่า 50% เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ประกอบการได้นำผลทดสอบ ไปทำการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และผ่านกฎระเบียบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยห้องปฏิบัติการของ วว. ให้บริการทดสอบวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล ISO 17088 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. 17088-2555 ได้รับการขึ้นทะเบียน (Registered laboratory) กับ Din Certco ประเทศเยอรมันนี และอยู่ในระหว่างการตรวจประเมินเพื่อการรับรองระบบงานตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการรับรองเร็ว ๆ นี้
วว. โดยฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ (ฝนว.) มีทิศทางการวิจัยและพัฒนาวัสดุประเภทพลาสติกชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เฝือกอ่อนย่อยสลายได้ เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ การพัฒนาวัสดุเมมเบรนจากพลาสติกชีวภาพสำหรับการกรองสารในระดับอัลตราฟิวเตรชันในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำดื่ม และอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ฝนว. ยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสมบัติวัสดุพลาสติกชีวภาพและวัสดุอื่น ๆ เช่นการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตรวจหาองค์ประกอบทางเคมี ประเภทของพลาสติกด้วยเครื่อง Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FTIR) การตรวจวัดเพื่อยืนยันโครงสร้างผลึกเทียบกับสารตัวอย่างด้วยเครื่อง X-ray Diffraction (XRD) การตรวจวิเคราะห์โครงสร้างผลึก ตรวจวิเคราะห์ลักษณะจุลโครงสร้างของวัสดุประเภทต่างๆ ด้วยเครื่อง Field Emission Scanning Electron Microscope (FESEM) กำลังขยายสูงถึง 100,000 เท่า นอกจากนี้ยังให้บริการวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนด้วยเครื่อง DSC, TG/DTA เพื่อศึกษาชนิดและปริมาณของสารที่สลายตัวได้ที่เป็นองค์ประกอบในพอลิเมอร์อีกด้วย
นอกจากนั้น วว. โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุ และบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก รวมถึงบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ด้วยห้อง ปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยวิธีการทดสอบที่เป็นมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ เช่น มาตรฐาน ASTM ,ISO,JIS,BS และ มอก. เป็นต้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ของไทย โดยมีรายการทดสอบที่ให้บริการที่หลากหลาย เช่น ความต้านแรงดึงขาดและการยืดตัว ความต้านแรงฉีกขาด ความต้านแรงทิ่มทะลุ อัตราการซึมผ่านของไอน้ำ อัตราการซึมผ่านของก๊าซ ความต้านแรงกระแทก อัตราการหดตัวของฟิล์มพลาสติก สัมประสิทธิ์ความเสียดทาน วิเคราะห์ชนิดของพลาสติก ความต้านแรงกด ความต้านการตกกระแทก และความต้านการเรียงซ้อน เป็นต้น
วว. โดยสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) มีความพร้อมในการบริการเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือจาก 2 องค์กรหลัก คือ บริษัท DIN CERTCO ประเทศเยอรมนี และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) ในการให้บริการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ดังนี้ คือ 1.เป็นตัวแทนเพื่อบริการการรับงานให้กับผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ขอการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจาก บริษัท DIN CERTCO เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการติดต่อขอรับบริการ การจัดส่งตัวอย่าง และธุรกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย 2.ให้บริการการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) ร่วมกับ TBIA โดยครอบคลุมการรับรองผลิตภัณฑ์สำหรับวัตถุดิบ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย และ 3.ให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกฐานชีวภาพ (เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) ร่วมกับ TBIA บริการให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกฐานชีวภาพ (เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) โดยการรับรองครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบฐานชีวภาพบางส่วนหรือทั้งหมด ที่มีแหล่งกำเนิดทั้งจากวัตถุดิบชีวมวล วัตถุดิบทางการเกษตร หรือสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งอาจจะเป็นสารตามธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ก็ได้ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนที่อยู่ในผลิตภัณฑ์แล้ว ได้รับการรับรองว่าเป็นคาร์บอนที่มาจากวัตถุดิบชีวมวล
“ขณะนี้เราได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2560 ซึ่งสามารถจะรองรับงานวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และขยายวิธีการทดสอบไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น กล่าวได้ว่า ศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของ วว. นี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สลายตัวได้ทางชีวภาพของประเทศไทย ต่อคู่ค้าทั้งภายในและต่างประเทศ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สนใจงานบริการทดสอบพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจรของ วว. ติดต่อที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9362 อีเมล tistr@tistr.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732
ที่มา: http://www.thaigov.go.th