ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการฯ และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) โดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฯ ร่วมกันแถลงข่าว ชี้แจงกรณี มีการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ โดยอ้างว่า นาซาระบุโลกจะมืดไป 6 วันในเดือนธันวาคมนี้ และมีการแชร์ต่อ ๆ กันทางโซเชียลมีเดีย ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสื่ออันทรงพลังที่ตอบสนองทุกความต้องการอย่างทันต่อเวลาและสื่อสารได้ทุกมิติ สามารถชี้นำให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ข่าวลือเรื่องโลกจะมืด 6 วันนี้ โดยส่วนตัวก็ได้ยินมาระยะหนึ่งแล้ว และยังคงมีการแชร์ต่อกันอยู่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทั้งภาพและรายละเอียดประกอบ ตลอดจนแหล่งที่มีการอ้างถึงอย่างองค์การนาซ่านั้น ก็มีความน่าเชื่อถือ จึงยังทำให้มีหลายคนที่ยังเคลือบแคลง โดยมีการโทรศัพท์มาสอบถามมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงด้วยเหตุและผลเชิงวิทยาศาสตร์ จึงขอให้รายละเอียดที่เป็นจริงเพื่อยุติข่าวลือดังกล่าว โดย สดร. ซึ่งเกาะติดสถานการณ์ปรากฎการณ์ทางด้านดาราศาสตร์และภาคพื้นเอกภพ ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าวอย่างรอบด้านแล้วว่าเป็นข่าวที่มาจากเว็ปลวงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และควรระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า เรื่องของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว อยากจะให้สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะว่านอกเหนือจากจะทำให้เราทันกับเหตุการณ์ สามารถแยกข้อเท็จจริงออกจากสิ่งที่ไม่จริง สังคมไทยเรายังขาดนักวิทยาศาสตร์อยู่มาก อยากจะถือโอกาสนี้แปลงข่าวออกมาเป็นข้อเชิญชวนให้เยาวชนของเราได้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากๆ แล้วมาเรียนรู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย เป็นวิศวกร ให้มากขึ้น ปัจจุบันสังคมไทยต้องการบุคลากรเหล่านี้ และในอนาคตเราจะเห็นภาคเอกชนไทยเองที่จะลงทุนในการสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยมากขึ้น สถาบันวิจัย ศูนย์วิจัย จะเป็นแหล่งจ้างงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการที่จะให้มีการลงทุนในการสร้างความรู้มากๆ เป็น 1 % ของ GDP ในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้จะเป็นเรื่องสำคัญมาก
ดร. ศรัณย์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้เผยแพร่มาจาก "สำนักข่าว huzlers" แท้จริงแล้ว huzlers ไม่ใช่สำนักข่าวจริงๆ แต่เป็นสำนักข่าวที่เขียนข่าวขำขัน เขียนเรื่องสร้างความตื่นตระหนกให้คนตกใจเล่นๆ แม้กระทั่งตัวเพจเองก็เขียนเอาไว้ด้านล่างว่า "Huzlers.com is a combination of real shocking news and satirical entertainment to keep its visitors in a state of disbelief." ซึ่งแปลความว่า "เว็บไซต์ Huzlers.com เป็นเว็บที่ผสมระหว่างข่าวจริงและเสียดสีที่น่าตื่นเต้นเพื่อสร้างความบันเทิงและน่าทึ่งให้กับผู้ชม" โดยข่าวลวงโลกดังกล่าว ระบุว่า วันที่ 16-22 ธันวาคม โลกจะตกอยู่ในความมืดสนิท เพราะพายุสุริยะจะทำให้เกิดฝุ่นและขยะอวกาศมาบดบังจนโลกอยู่ในความมืดสนิท
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า กรณีที่ว่าพายุสุริยะจะทำให้เกิดฝุ่นละอองนั้น ก็ไม่เป็นความจริง อีกทั้งไม่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวด้วย อย่างมากที่สุดพายุสุริยะสามารถทำให้ดาวเทียมใช้งานไม่ได้ และเราก็อาจจะเห็นออโรร่าสวยๆ ในประเทศแถบขั้วโลกเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าฝุ่นและขยะอวกาศจะมาบดบังโลกให้อยู่ในความมืดสนิท ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เพราะการที่ขยะอวกาศจะสามารถบดบังโลกให้อยู่ในความมืดสนิทได้นั้น เราจะต้องมีขยะอวกาศมากกว่าดาวเทียมที่มีอยู่ทั้งหมดนี้หลายเท่า และถ้าเป็นเช่นนั้นดาวเทียมเราทุกดวงคงร่วงไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามฝุ่นสามารถบดบังแสงอาทิตย์ได้ก็จริง แต่สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะในชั้นบรรยากาศ เช่น กรณีที่ภูเขาไฟลูกใหญ่ หรืออุกกาบาตขนาดมหึมา ทำให้ฝุ่นกระจายไปในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้อยู่ในความมืดสนิทอย่างที่กล่าวอ้างในข่าวแต่อย่างใด
"ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และที่กำลังเป็นที่นิยมมากในเมืองไทยคือกลุ่มไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสามารถส่งต่อออกไปอย่างรวดเร็ว ข่าวสารที่แพร่สะพัดในสื่อสังคมออนไลน์เป็นข่าวสาธารณะที่พร้อมจะถูกส่งต่อออกไปเพียงปลายนิ้วสัมผัส บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือมาจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง จึงขอให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาน" ดร.ศรัณย์ กล่าว
ด้าน ดร.อานนท์ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายกังวลพายุสุริยะจะส่งผลกระทบต่อดาวเทียม ว่า พายุสุริยะอาจส่งผลต่อดาวเทียมที่โคจรในอวกาศได้มากกว่าพื้นผิวโลก โดยดาวเทียมที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือดาวเทียมไทยโชตนั้นถูกออกแบบให้ป้องกันผลจากรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าได้ในระดับหนึ่ง และ สทอภ. เองก็มีมาตรการป้องกันและแก้ไขกรณีดาวเทียมถูกรบกวนเพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ดาวเทียมไทยโชตถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2551 ก็ได้ผ่านเหตุการณ์พายุสุริยะที่มีความรุนแรงสูงมาแล้วหลายครั้ง เช่น การเกิด Solar Flare ที่มีความรุนแรงสูงมากในระดับ x4.9 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 และในระดับ X3.1 แต่อย่างไรก็ตามยังไม่พบความผิดปกติในส่วนของดาวเทียมไทยโชต ที่เกิดจากพายุสุริยะเหล่านี้ ซึ่งทาง สทอภ.ได้มีการประสานงานและรับข้อมูลต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 หรือ 081-8854353
E-Mail: pr@narit.or.th
www.narit.or.th
Facebook: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Twiiter: @N_Earth
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th