นายกรัฐมนตรี กล่าวในนามของรัฐบาลไทยว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN Plus Three Health Ministers’ Special Meeting on Ebola Preparedness and Response ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อผนึกกำลังกันรับมือกับภัยคุกคามร่วมกันจากโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เช่นที่เคยประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนกในอดีต
สถานการณ์การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกในปัจจุบัน ยังน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน จำนวนผู้ติดเชื้อขยายตัวเพิ่มมาก ก่อให้เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เพราะยังไม่สามารถหาวิธีการใด ๆ ที่จะป้องกันโรค ยับยั้งหรือรักษาประชาชนที่ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกแม้จะอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีการแพร่ระบาดในขณะนี้ แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะปัจจุบัน ทุกภูมิภาคทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในทุกด้าน โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ในแต่ละวันมีเที่ยวบินระหว่างประเทศและภูมิภาคจำนวนมาก หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในภูมิภาค จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดไปยังที่อื่น ๆ ในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงแต่เป็นความท้าทายทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจต่อทุกประเทศในภูมิภาค และต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวม เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก
จากประสบการณ์การแพร่ระบาดของโรคซาร์และไข้หวัดนกในอดีต บางครั้งความหวาดกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ สามารถส่งผลกระทบได้มากกว่าโรคระบาดเอง เพราะความหวาดกลัวได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก จนทำให้การไปมาหาสู่กันและการค้าขายหยุดชะงัก ผู้นำของประเทศที่เกี่ยวข้องในครั้งนั้น ได้รวมตัวกันอย่างทันท่วงทีเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ จนกระทั่งสามารถร่วมกันควบคุมสถานการณ์ให้ค่อย ๆ คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติในที่สุด
รัฐบาลไทยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการสาธารณสุข โดยเสริมความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังโรคระบาด โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ มีเครือข่ายหน่วยเฝ้าระวัง หน่วยตรวจวินิจฉัยโรค และหน่วยที่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายในการสกัดกั้นการแพร่กระจายได้อย่างทันท่วงที
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการดำเนินการในประเทศไทยว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ห้องปฏิบัติการ ห้องแยกโรคและมาตรการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ควบคู่กับการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทางด่านท่าอากาศยาน และด่านทางน้ำ ตลอดจนติดตามผู้สงสัยจากประเทศที่มีการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างเข้มงวด
การร่วมมือของทุกประเทศในภูมิภาคอีกครั้งในวันนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนในภูมิภาคให้มีความมั่นใจ หลักสำคัญในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา คือการ “ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก” สร้างภูมิคุ้มกันผ่านการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เสริมสร้างศักยภาพ และขีดความสามารถทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสและทันท่วงทีและกลไกการรับมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การยับยั้งและการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นไปอย่างเข้มแข็ง รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ
นายกรัฐมนตรีส่งกำลังใจไปยังบุคลากรด้านสาธารณสุขนานาชาติที่ได้อุทิศตน เสียสละ และกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคอย่างเข้มแข็ง เพื่อช่วยกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และรักษาผู้เจ็บป่วยโดยไม่ย่อท้อกล่าว และชื่นชมความพยายามของนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ได้ทุ่มเท และระดมสรรพกำลัง ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ทั้งกำลังเงิน ผู้เชี่ยวชาญ และสิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อการทำงานที่บูรณาการและสามารถให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการบนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไปของแต่ละฝ่าย โดยในส่วนของประเทศไทย ได้มอบความช่วยเหลือผ่านองค์การอนามัยโลก และอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบัน สะท้อนถึงความอ่อนแอของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในประเทศที่ได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นานาประเทศจะต้องเพิ่มการลงทุน เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและทั่วถึงในประเทศเหล่านี้ และในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพราะการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน ผ่านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยให้สามารถป้องกัน ตรวจสอบและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่แรกๆ
ประเทศไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่โดยอาศัยเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียนบวกสาม และยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับนานาประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การระบาดของอีโบลาในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นทั้ง “บททดสอบ” และ “บทเรียน” สำหรับนานาประเทศ การมารวมตัวกันในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และศักยภาพของกรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีความพร้อมในการตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อวิกฤติต่าง ๆ ภายใต้มีกลไกที่สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนก ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ รวมทั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามนี้ จะช่วยสนับสนุนความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ในกรอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือภายใต้การนำของสหประชาชาติ ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และความร่วมมือในกรอบ Global Health Security Agenda ของสหรัฐฯ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายองค์กรที่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันมีค่า และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่าน ในการให้คำแนะนำและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th