พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาผู้สูงอายุในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งบางส่วนยังประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อน ฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย และถูกทอดทิ้ง จึงได้ตั้งศูนย์สาธิตการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนมขึ้น เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม” และได้ดำเนินการเปิดให้บริการผู้สูงอายุประเภทอยู่ประจำ ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ มีภารกิจในการดำเนินงาน ๖ ด้าน ดังนี้ ๑) ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศงานสวัสดิการผู้สูงอายุ (Data Center) มีหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ๒) ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนา (Training Center ) มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่รับผิดชอบ ๓) ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในสถาบันและชุมชนพร้อมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ๔) ศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุแบบสถาบัน (Social welfare Services for OIder Persons Under Institution Care Center) ให้บริการที่พักอาศัยรูปแบบสถานสงเคราะห์ ๕) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน (Social Welfare Services for OIder Persons Within Communities Center) มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างมีความสุข และ ๖) ศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาและส่งต่อ (Counseling Center )
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพดังนี้ ๑) มุ่งเน้นการสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ให้คนทุกกลุ่มวัยตระหนักในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ การให้ความรู้ด้านการใช้ชีวิตกับผู้สูงอายุในครอบครัว และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกลุ่มวัย ๒) ส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคมแก่ผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม การเข้าถึงหลักประกันทางสังคม สนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัย ส่งเสริมการมีงานทำเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งผลักดันให้มีระบบการออมและระบบบำนาญ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และ ๓) ดำเนินโครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เพื่อเป็นต้นแบบโดยส่งเสริมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุและการบริหารจัดการโดยผู้แทนผู้สูงอายุ เพื่อจัดกิจกรรมและบริการด้านสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมอาชีพ และการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน
ทั้งนี้ "กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันได้จัดตั้งไปแล้วจำนวน ๘๗๘ แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๗๐ ซึ่งจะมีจำนวนมากถึง ๑๖ ล้านคน กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์ฯ ในทุกตำบล จำนวน ๗,๘๕๓ แห่ง นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนขับเคลื่อนงานให้ระดับท้องถิ่น โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเอกชน จัดตั้งสถานที่เพื่อรองรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th