รมว.ศธ. ตรวจเยี่ยม Coaching Lab สพฐ.

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2014 17:47 —สำนักโฆษก

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมและสังเกตการณ์การอบรมสัมมนา ซึ่งรศ.ประภาภัทร นิยม ได้เชิญพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พบปะและพูดคุยกับคณะผู้เข้ารับการ Coaching Lab โดยรมว.ศึกษาธิการได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การปฏิรูปการศึกษาและกระจายอำนาจการจัดการศึกษาว่า “โครงสร้างการบริหารจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษานั้นส่งผลกระทบโดยตรงไปถึงนักเรียนหรือผู้เรียน การเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังทั้งจากบนไปล่างและจากล่างไปบนจึงต้องดำเนินการไปพร้อมๆกัน ตนคิดว่า หากเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนมีศักยภาพพอที่จะรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง หลักสูตร งบประมาณ บุคลากร ก็จะสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ระบบการเรียนการสอนที่มีปัญหาก็จะมีคุณภาพและประสิทธิภาพตามคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละภูมิภาค”

วันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลา 11.00 น. ที่โรงแรม VCV PLACE วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย สถานที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Coaching Lab) สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำร่องในเขตภาคเหนือ ประกอบด้วยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1,น่าน เขต1,ลำปาง เขต 3และนครสวรรค์ เขต 3 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันอาศรมศิลป์ ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ ในขณะที่ รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ประธานเปิดการสัมมนาอบรมดำเนินการบรรยาย ต่อผู้ฟังประมาณ 120 คนนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมและสังเกตการณ์การอบรมสัมมนา ซึ่งรศ.ประภาภัทร นิยม ได้เชิญพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พบปะและพูดคุยกับคณะผู้เข้ารับการ Coaching Lab โดยรมว.ศึกษาธิการได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การปฏิรูปการศึกษาและกระจายอำนาจการจัดการศึกษาว่า “โครงสร้างการบริหารจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษานั้นส่งผลกระทบโดยตรงไปถึงนักเรียนหรือผู้เรียน การเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังทั้งจากบนไปล่างและจากล่างไปบนจึงต้องดำเนินการไปพร้อมๆกัน ตนคิดว่า หากเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนมีศักยภาพพอที่จะรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง หลักสูตร งบประมาณ บุคลากร ก็จะสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ระบบการเรียนการสอนที่มีปัญหาก็จะมีคุณภาพและประสิทธิภาพตามคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละภูมิภาค”

ต่อจากนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านโป่งแพร่ หมู่ที่ 2 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ด้วยขบวนรถตู้และรถยนต์ติดตามรวม 5 คัน ซึ่งโรงเรียนบ้านโป่งแพร่เป็นโรงเรียนในสังกัดสพป.เชียงราย เขต 2 อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายไปตามเส้นทางเด่นห้า อ.เมือง-ดงมะดะ อ.แม่ลาว ประมาณ 30 กม. โดยมีนายประถม เชื้อหมอ ผอ.สพป.เชียงราย เขต 2 นายระพีพงษ์ ไชยลังกา ผอ.รร.บ้านโป่งแพร่ พร้อมคณะผู้บริหาร คณะครู ที่ทราบข่าวรอคอยให้การต้อนรับพร้อมตอบข้อซักถามต่างๆ ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมทักทายพูดคุยกับนักเรียนชั้นป.6 จำนวน 17 คน ในอาคารเรียนแบบน้อคดาวน์ซึ่งสพฐ.จัดสร้างให้ทดแทนอาคารเรียนหลังเก่าที่ถูกเหตุพิบัติภัยแผ่นดินไหวเสียหายทั้งหลัง ทั้งนี้นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนชาติพันธ์ มีทั้งเผ่าลาหู่ อาข่า อิ๊วเมี่ยนหรือเย้าและไทยใหญ่ ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการได้เปิดหนังสือแบบเรียนภาษาไทยและสุ่มให้นักเรียนชายหญิงจำนวน 5 คน ทดลองอ่านทีละคน ซึ่งเด็กนักเรียนก็สามารถอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว จนพลร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ต้องปรบมือให้พร้อมกล่าวว่า “เยี่ยม สอบผ่าน” ต่อจากนั้นได้ไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารเรียนพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยรมว.ศึกษาธิการได้กล่าวว่า ต้องแสดงความยินดีกับโรงเรียนบ้านโป่งแพร่และอีกหลายๆโรงเรียนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานอาคารเรียนแบบ 105/29 ลักษณะพิเศษให้ สามารถรองรับกับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ต่อจากนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และคณะยังได้ติดตามเยี่ยมชมกิจกรรมโครงการอาหารกลางวันนักเรียน สอบถามพูดคุยกับแม่ครัว คุณครูที่รับผิดชอบตลอดจนสอบถามนักเรียนที่มาเข้าแถวถือถาดหลุมตักข้าวและกับข้าวไปนั่งรอที่จะรับประทานพร้อมๆกันด้วยความสนใจ ก่อนที่จะเดินต่อไปยังห้องคลินิกภาษาไทย ชมกิจกรรมการใช้บัญชีคำในภาษาไทยสำหรับตรวจสอบการอ่านภาษาไทยนักเรียนในแต่ละคน ซึ่งสามารถใช้สอนนักเรียนชาติพันธ์ให้อ่านออกเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการออกปากชื่นชมในที่ประชุมผู้บริหารและคณะครู ในห้องประชุมรร.บ้านโป่งแพร่ว่า โรงเรียนบ้านโป่งแพร่น่าจะเป็นตัวอย่างโรงเรียนที่มีวิธีการและกระบวนการในการแก้ไขปัญหานักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้อีกโรงเรียนหนึ่ง

ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก สพฐ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ