ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า นวัตกรรมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ในโลกยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการนำความรู้และเทคโนโลยีไปใช้เป็นต้นทุนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการร่วมกับการสร้างผลิตภาพ อันจะนำมาซึ่งการเกิดธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม มีความเจริญก้าวหน้าทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ด้านงานวิจัย และเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ตามนโยบาย 5 ข้อที่รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ประกอบไปด้วย 1. ประเทศไทยต้องมีการสร้างความรู้และงานวิจัยให้แก่ภาคการผลิต โดยรัฐบาลเดินหน้าด้านงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน 2. การขับเคลื่อนกำลังคน ทรัพยากรมนุษย์ เป็นทุนสังคมที่สำคัญที่สุด และมีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้างการพัฒนาและผู้ได้รับผลจากการพัฒนา จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. การยกระดับการลดภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา 4. การสนับสนุนโครงการ Mega Project ที่ใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าด้าน วทน. ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปสู่อนาคต 5. โครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. โดยการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือรัฐบาลลงทุนโดยให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์หรือใช้บริการ
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่กำกับดูแลนโยบายรัฐบาลทางด้าน วทน. ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้มีความเข้มแข็งในการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และการเป็นผู้นำในระบบการผลิตและการลงทุนระดับโลก ขยายตัวการลงทุนและสร้างศูนย์วิจัยให้กลายเป็นแหล่งจ้างงานนักวิทยาสาสตร์และนักวิจัยไทยขนาดใหญ่โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาด้าน วทน. ของประเทศมีความต่อเนื่องยั่งยืน
นายธีรพงศ์ จันศิริ กล่าวว่า ทียูเอฟ ในฐานะกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจอาหารอันดับต้นๆ ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารทะเล ปลาทูน่าจึงถือเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ และสร้างนวัตกรรมความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรมให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องเน้นไปที่ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมที่จะนำออกสู่ตลาดนั้นจะก่อประโยชน์สูงสุดและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมดังกล่าว จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอย่างเป็นทางการแห่งแรกของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระดับโลกของทียูเอฟ นักวิทยาศาสตร์ของทียูเอฟ และ นักวิชาการสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ
ศ.ดร.ศกรณ์ มงคลสุข กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสนับสนุนความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างงาน เศรษฐกิจ สังคม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ้งเน้นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วนและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th