วันนี้(17 ธันวาคม 2557) ที่ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 14 และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 พร้อมปาฐกถาพิเศษ : ยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปีพ.ศ. 2573 ว่า สถานการณ์โรคเอชไอวีของไทยในรอบ 30 ปี หลังจากที่พบผู้ป่วยรายแรกในปี 2527 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่สะสมทั้งหมด 1,200,000 คน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 7 แสนคน จากการประเมินคาดว่าในปี 2557 นี้ สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อเดิมและยังมีชีวิตทั้งหมด 446,154 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี 7,525 คน ที่เหลือเป็นผู้ใหญ่ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 22 คนร้อยละ 98 เป็นผู้ใหญ่ ที่เหลือเป็นเด็กจำนวน 104 คน ส่วนผู้เสียชีวิตมีประมาณวันละ 56 คน ชี้ให้เห็นสัญญาณโรคว่าอัตราการเพิ่มได้ลดลงแล้ว โดยคณะกรรมการเอดส์ชาติได้ตั้งเป้าจะยุติปัญหาการแพร่ระบาดโรคเอดส์ภายในปี 2573 หรือในอีก 16 ปี คือจะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกินปีละ 1,000 คน ผู้ติดเชื้อทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ สอดคล้องกับมติขององค์การสหประชาชาติ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มีนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ประกาศให้การยุติปัญหาเอดส์เป็นวาระชาติ 3 เรื่อง คือการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เพื่อลดผู้ติดเชื้อในผู้ฉีดยาเสพติดซึ่งมีอัตราติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 80 ระดมการทำงานหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ และเพิ่มงบประมาณด้านเอดส์ในปี 2558 – 2562 ปีละ 1,700 - 1,900 ล้านบาท เพื่อทดแทนงบประมาณจากกองทุนโลกฯ ที่ปัจจุบันลดลงมากและจะสิ้นสุดในปี 2559 นี้ เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ทำงานเอดส์จากทุกภาคส่วน ว่าการดำเนินงานด้านเอดส์จะเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ยังได้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อยุติปัญหาเอดส์ 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.ขยายความครอบคลุมการดำเนินงานป้องกันโรค โดยเชื่อมโยงผสมผสานงานเชิงรุกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บริการให้การปรึกษาและตรวจการติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มชายรักร่วมเพศ ครอบคลุมร้อยละ 90 2.รักษาผู้ติดเชื้อทุกคนด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยไม่คำนึงถึงระดับเม็ดเลือดขาวซีดีโฟว์(CD4) รวมถึงการตรวจวินิจฉัยทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อภายภายในอายุ 2 เดือน เพื่อเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสทุกรายโดยเร็วที่สุด ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ นอกจากเป็นการรักษาแล้ว ยังมีผลในการป้องกันโรคด้วย 3.สนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อฯ กินยาสม่ำเสมอตลอดชีวิตและคงอยู่ในระบบบริการต่อเนื่อง มากกว่าร้อยละ 90
4. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพ ระบบชุมชน โดยผสมผสานบูรณาการระหว่างงานการป้องกันและรักษา ใช้หลักแนวคิด เข้าถึง ตรวจ รักษา คงอยู่ โดยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เข้าถึงระบบบริการ ถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ในทุกระบบประกันสุขภาพรวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา และ5.รณรงค์สร้างความเข้าใจประชาชน ให้เรื่องเอชไอวีและการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนควรรู้สถานะการติดเชื้อ และตรวจเป็นประจำ หรือเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่ป้องกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในสถานที่ทำงานด้วย จึงเชื่อมั่นว่า ในปี 2573 ไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่จะยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จอย่างแท้จริง
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดงบประมาณซื้อถุงยางอนามัยจำนวน 40 ล้านชิ้น ซึ่งสูงกว่าช่วงปีที่ผ่านมาที่มีปีละประมาณ 20 ล้านชิ้น เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งปัญหาหลักของไทยร้อยละ 80 ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย สำหรับงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 14 และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2557 กำหนดประเด็นคือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา ร่วมยุติปัญหาเอดส์และเพศสัมพันธ์” มุ่งเน้นการยุติปัญหาเอดส์ร่วมกับการยกระดับความสำคัญโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยคู่ขนานการระบาดของเอชไอวี เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรและคนทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ วิชาการทางลัด และประสบการณ์ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ทันที โดยมีผู้สนใจจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมมากกว่า 2,000 คน
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการอภิปรายใหญ่ 3 หัวข้อคือ 1.เข้าใจการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติเพื่อยุติปัญหาเอดส์ 2.เปลี่ยนเพื่อไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางสัมพันธ์ และ3.ไม่มีการเสียชีวิตจากเอดส์เพราะเอดส์ รักษาได้ โดยมีการนำเสนอผลงานวิชาการ 91 เรื่อง การจัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอผลงานและกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 34 ซุ้ม และตลาดนัดชุมชน จำนวน 12 ร้าน การฉายภาพยนตร์สารคดี 7 เรื่อง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแสดงศิลปวัฒนธรรมกิจกรรมชุมนุม โดยมีพื้นที่เครือข่ายต่างๆ จำนวน 11 เครือข่าย มาร่วมนำเสนอกิจกรรมการทำงานในชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพูดคุยด้วย
17 ธันวาคม 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th