รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปด้านการศึกษาของประเทศ และเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พิจารณากรอบการปฏิรูปการศึกษา
โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรอบการปฏิรูปการศึกษา เพื่อต้องการให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาล ที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ควรดำเนินการตามกรอบ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยเกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และไม่ถูกแทรกแซงจากระบบการเมือง ทั้งยังเห็นพ้องในหลักการว่าควรมีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิรูปการศึกษา ทั้งระยะเร่งด่วน (1 ปี) ระยะปานกลาง (1-3 ปี) และระยะยาว (5-10 ปี)
รศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกศ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ในคณะกรรมการชุดนี้ 7 คณะ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาทิ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา, คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล, คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายการศึกษา, คณะอนุกรรมการด้านการกระจายอำนาจ, ด้านการปฏิรูปหลักสูตร ด้านการผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น
รับทราบความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาจาก สนช.-สปช.-ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู
ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. และความก้าวหน้าการดำเนินงานของ สปช. ชุดต่างๆ รวมทั้งรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ที่มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. เป็นประธาน เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การกำหนดกรอบนโยบายการผลิตและพัฒนาครูต่อไป
ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การผลิตและพัฒนาครูถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาของไทย จำเป็นต้องมีการวางระบบการผลิตครูที่ดีมีคุณภาพ โดยนำบทเรียนการผลิตและพัฒนาครูของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จด้านการปฏิรูปการศึกษามาเปรียบเทียบกับการผลิตครูของไทยด้วย เช่น ประเทศสิงคโปร์ ฟินแลนด์ ที่มีการผลิตครูในระบบปิด ผลิตครูตรงตามความต้องการใช้ครูจริง สร้างแรงจูงใจดึงคนเก่งเข้ามาเป็นครู มีระบบการคัดเลือกคนเรียนครูอย่างพิถีพิถัน เป็นต้น
รับทราบความก้าวหน้าโครงการของ สพฐ.ในการกระจายความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิรูประบบการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Education Reform Lab & Coaching Lab) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการเพื่อนำร่องการกระจายความรับผิดชอบ (หรือกระจายอำนาจ) ลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง (พ.ศ.2558-2560) ในเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขตๆ ละ 15 โรงเรียน ครอบคลุมโรงเรียนแกนนำซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำเป็นกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 300 โรง โดยให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและตั้งโจทย์การพัฒนาโรงเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (Reform Lab) และปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Coaching Lab) จากนั้นจึงจะร่วมกันเลือกประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้คณะทำงาน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักประเมินผลติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะทุกๆ 3 เดือน และ 6 เดือนต่อไป
รับทราบผลการศึกษาการจัดโครงสร้างของ 3 หน่วยงานใน ศธ.
อีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม คือ การจัดโครงสร้างหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทั้งสามหน่วยงานคือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รายงานผลการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้าง ให้คณะกรรมการชุดนี้ได้รับทราบในเบื้องต้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดำเนินการให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด จึงต้องการให้มีการพิจารณาในภาพรวมพร้อมกัน เพราะทราบว่าสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังศึกษาถึงการปรับปรุงโครงสร้างภายในเช่นกัน
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งต่อไป กำหนดให้มีขึ้นในช่วงบ่ายวันพุธที่ 7 มกราคม 2558 ที่ สกศ.
คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สกศ. 725/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
คณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย
- นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์
- นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
- นายตวง อันทะไชย
- นางทิชา ณ นคร
- นายมีชัย วีระไวทยะ
คณะกรรมการ โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร และพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีกรรมการอีก 21 คน ประกอบด้วย
- พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล
- นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
- นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
- นายวิจารณ์ พานิช
- นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
- นายสมชัย ฤชุพันธุ์
- นางประภาภัทร นิยม
- นายวรากรณ์ สามโกเศศ
- นางสิริกร มณีรินทร์
- นายนคร ตังคะพิภพ
- นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
- นายอมรวิชช์ นาครทรรพ
- นายสมพร ใช้บางยาง
- นางสุทธศรี วงษ์สมาน
- นายแพทย์กำจร ตติยกวี
- นายกมล รอดคล้าย
- นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์
- นายพินิติ รตะนานุกูล เป็นกรรมการและเลขานุการ
- นายประวิต เอราวรรณ์ นายชาญ ตันติธรรมถาวร และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปด้านการศึกษา เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับด้านการศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควร รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 ธันวาคม 2557
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 18/12/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th