นายกรัฐมนตรีให้ข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS พร้อมจะนำมุมมองจากทุกภาคส่วนหุ้นส่วนทางการพัฒนา เอกชนและเยาวชน ร่วมสร้างอนาคตในอนุภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Saturday December 20, 2014 17:57 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวให้ข้อคิดเห็น ในนามผู้นำประเทศ GMS ในพิธีการรายงานผลงานที่จะส่งมอบต่อผู้นำ (Deliverable) ในการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 5

วันนี้ (20 ธันวาคม 2557) เวลา 10.00 – 11.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวให้ข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม ในนามผู้นำประเทศ GMS ระหว่างพิธีการรายงานผลงานที่จะส่งมอบต่อผู้นำ (Deliverable) ในการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมแชง-กรีล่า กรุงเทพฯ สรุปดังนี้

ประการแรก นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีในนามของผู้นำ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ต่อความสำเร็จของการจัดทำแผนการดำเนินงานของกรอบการลงทุนในภูมิภาคที่ผู้นำประเทศได้รับรองในการนำแผนนี้ไปสู่การปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ การที่แต่ละประเทศมีแหล่งเงินทุนที่จำกัด แต่โครงการลงทุนมีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งทุน ทั้งจากภาคเอกชนและหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆ ซึ่งมีทั้งเงินทุนและความเชี่ยวชาญในการลงทุนในอนุภูมิภาค

สำหรับการประชุมในเวทีส่งเสริมการลงทุนใน GMS ที่สำเร็จไปอย่างดี เมื่อวานนี้ เป็นเวทีที่สามฝ่าย คือ เจ้าของโครงการใน GMS เจ้าของเงินทุน ทั้งสถาบันการเงินและพันธมิตรการพัฒนาและนักลงทุนภาคเอกชน ได้มาแบ่งปันข้อมูลกัน อันจะช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลและมีความเข้าใจในแผนการลงทุนของภูมิภาค ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งทุนและเครื่องมือทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นจากตลาดทุนของภูมิภาค การออกพันธบัตร และเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการดำเนินงาน ภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาคให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งภาครัฐของประเทศ GMS มีความมุ่งมั่นในการที่จะผลักดันการลงทุนเหล่านี้ให้เกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนให้หุ้นส่วนการพัฒนาและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมกัน

ประการที่สอง ไทยขอขอบคุณผู้แทนองค์กรหุ้นส่วนทางการพัฒนาทั้งหลายของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และในความร่วมมือในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในทุกๆ ด้านของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในอีก 10 ปีต่อไป

ประเด็นการพัฒนา มีความสำคัญสำหรับ GMS ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มบทบาทสตรี และการลดข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ล้วนเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ หลายเรื่องมีการดำเนินการในกรอบ GMS ในขณะที่อีกหลายเรื่องอยู่ในนโยบายหรือแผนพัฒนาของแต่ละประเทศ การดำเนินงานในเรื่องเหล่านี้จึงมีขอบเขตมากกว่ากรอบการลงทุนใน GMS แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการและต้องการความร่วมมือจากองค์กรหุ้นส่วนของการพัฒนาอย่างยิ่ง การเข้ามาร่วมพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงขององค์กรหุ้นส่วนทางการพัฒนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านเทคนิคและวิชาการจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้

สำหรับประเด็นเรื่องความสอดคล้องและเชื่อมโยงของความร่วมมือ GMS กับกรอบความร่วมมือของภูมิภาค เช่น ประชาคมอาเซียน หรือเวทีโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติหลังปี 2558 นั้น เป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกจะได้หารือกันต่อไปในวันนี้ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าความร่วมมือ GMS สอดคล้องกับเป้าหมายของกรอบความร่วมมือการพัฒนาในภูมิภาคและเวทีโลก และจะได้หารือกันว่ามีอะไรที่ควรทำเพิ่มเติม หรือทำมากขึ้น

ประการที่สาม ข้อเสนอจากมุมมองของภาคเอกชนถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากผู้ที่กำลังพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ภาครัฐได้ลงทุนไปแล้ว และได้พบว่ายังมีปัญหาติดขัดอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งจะไปดำเนินการให้บรรลุผลเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย เนื่องจากผู้นำ GMS เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจเอกชนซึ่งถือว่าเป็นตัวจักรที่สำคัญในอันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ GMS ประเด็นเหล่านั้น ได้แก่

การสนับสนุนการประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs

การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อม และจัดการลดผลกระทบความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ

การเร่งรัดให้มีความก้าวหน้าในการอำนวยความสะดวกด้านการค้า และคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสมาคมการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีต่อเยาวชนผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนประเทศ GMS เข้าร่วมในการสำรวจสภาพเส้นทางใน GMS และได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของประชาชน GMS

นายกรัฐมนตรีมีความประทับใจในถ้อยความของเยาวชน ซึ่งเหล่าผู้แทนเยาวชนได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการร่วมจัดทำขึ้นมา โดยข้อเสนอเหมาะสมกับเป็นคนรุ่นใหม่ที่เสนอให้มีการเชื่อมโยงของโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคให้มากขึ้น ส่งเสริมการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสังคมของภูมิภาคมากขึ้น

เยาวชนได้กล่าวชัดเจนถึงอนาคตของพวกเขาในภูมิภาค ว่าต้องการให้เราดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและต้องการภูมิภาค GMS ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้นำ GMS จะรับไปดำเนินการตามที่เหล่าเยาวชนได้เสนอ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะดำเนินความร่วมมือ GMS เพื่อประโยชน์ของคนในวันนี้และในอนาคต เยาวชนควรได้รู้ว่า อนาคตของภูมิภาคจะเป็นอย่างไร จะมีถนนเส้นไหน มีรถไฟเส้นไหนเกิดขึ้น มีการไปมาหาสู่กัน หรือไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ผู้ก่อตั้ง GMS บอกเราว่าจะมีถนนเชื่อมโยงจากระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และทางใต้ของอนุภูมิภาค GMS ที่ไปมาหาสู่กันได้

นายกรัฐมนตรีและผู้นำ GMS จะทำงานอย่างเต็มที่ และร่วมกันสร้างความฝันของเยาวชน GMS ให้เป็นจริง

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและชื่นชมผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ทุกท่านในสองวันนี้ จนเกิดผลสำเร็จอย่างมาก และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อที่จะมารายงานผลต่อไปในการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6 ซึ่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ