(Plenary Session: Opening Statement) ในการประชุม The 5th GMS Summit โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญร่วมประชุม ประกอบด้วย สมเด็จมหาอัครเสนาบดี ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายหลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นายเหวียนเติ้นสุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียและประธานสภาธุรกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
วันนี้ (20 ธันวาคม 2557) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับ(Welcome Remarks) การประชุมเต็มคณะ (Plenary Session: Opening Statement) ในการประชุม The 5th GMS Summit โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญร่วมประชุม ประกอบด้วย สมเด็จมหาอัครเสนาบดี ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายหลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นายเหวียนเติ้นสุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียและประธานสภาธุรกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และประชาชนชาวไทย ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับท่านประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง(หรือ Greater Mekong Sub-regional Economic Cooperation) เข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อกันว่า จะมาพบกันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นประจำทุกสามปี
ในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติของประชาชนชาวไทยที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุม และมีโอกาสต้อนรับคณะผู้นำและแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่
ประเทศไทย สยามเมืองยิ้ม เมืองแห่งความสุข ด้วยความยินดียิ่ง ในช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบายอย่างนี้ ผมหวังว่า เมื่อคืนนี้ทุกท่านคงได้พักผ่อนเต็มที่และหลับสบายเหมือนอยู่บ้านของท่านเอง ขอให้ทุกท่านถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สองของท่านทั้งหลายนะครับ
เมื่อยี่สิบปีก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่า ประชาชนของเราทั้งหกประเทศจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกสบายเช่นทุกวันนี้ และคงไม่มีใครเชื่อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมจะสามารถส่งวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วน ข้ามพรมแดนสามประเทศ (ไทย-ลาว-เวียดนาม) ได้ภายในวันเดียว ก็เพราะวิสัยทัศน์ของเราที่ร่วมมือกัน จึงทำให้เราประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงประชาชน 320 ล้านคนเข้าด้วยกันและในที่สุดอาเซียนก็เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง จึงเกิดเป็นแผนแม่บทการเชื่อมโยงของอาเซียน (หรือที่เรียกว่า Master Plan on ASEAN Connectivity) ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะต้องร่วมกันพัฒนาให้สำเร็จภายในปี ค.ศ.2015
ด้วยความที่กลุ่มประเทศแม่น้ำโขงมีความได้เปรียบในเชิงแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ จึงทำให้เรามีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเราเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก และด้วยความที่เรามีวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ที่คล้ายคลึงกันมาก รวมทั้งเป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญของอารยธรรมเอเชีย จึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใฝ่ฝันจะต้องมาสัมผัสให้ได้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ทุกท่านคงเห็นพ้องว่า หัวข้อการประชุมในวันนี้เป็นหัวข้อที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากที่สุดและทันสมัยกับกระแสของโลก กล่าวคือ “ความมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน GMS” ซึ่งเป็นหัวข้อที่อยู่ในกรอบวิสัยทัศน์ที่เราได้ร่วมกันวางไว้ 3 เรื่อง หรือ 3C คือ Connectivity (การสร้างความเชื่อมโยง)Competitiveness(การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน) และCommunity (การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน)
เมื่อสามปีก่อน ณ กรุงเนปิดอว์ ผู้นำประเทศกลุ่มแม่น้ำโขงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของเราจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลงทุนช่วงสิบปี (ค.ศ.2012 – 2022) ซึ่งรัฐมนตรี GMS ได้พิจารณากลั่นกรองกันอย่างรอบคอบแล้ว โดยมีโครงการที่มีความสำคัญระดับสูง วงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในวันนี้ เราในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็จะได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายกรัฐมนตรีเสนอแผนการทำงานในช่วงสิบปีข้างหน้าที่ จะให้ความเห็นชอบและร่วมกันขับเคลื่อนและนำไปสู่การปฏิบัติ ในวันนี้ ควรจะต้องให้ความสำคัญ 7 เรื่องด้วยกัน ดังนี้
หนึ่งใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันตามแนวชายแดนของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับเมืองในภูมิภาคและสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องแล้วใน
5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ได้แก่ แม่สอด มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา
สองพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศในระยะเร่งด่วนใน 2 เส้นทางหลัก คือเส้นทางอรัญประเทศ-ปอยเปตและเส้นทางที่ 2 ได้แก่ หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง และเมื่อวานนี้ผมและท่านนายกรัฐมนตรี หลี เค่อ เฉียง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟภายในประเทศของไทย 2 เส้นทางคือ เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด ในเรื่องนี้ การจัดตั้งสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Railway Association: GMRA) ซึ่งประเทศสมาชิกได้เห็นชอบแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการประสานงานรถไฟระหว่างประเทศต่อไป
ในเวลาเดียวกัน ไทยและเมียนมาร์กำลังเดินหน้าความร่วมมือพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังของไทย และเชื่อมกับกัมพูชาและเวียดนาม และจะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมต่อเนื่องในลักษณะคลัสเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ ไทยและเมียนมาร์กำลังร่วมหารือในการสร้างสะพานแห่งที่สองที่อำเภอ แม่สอด-เมียวดี ทางด้านชายแดนไทย-ลาว สะพานมิตรภาพแห่งที่ห้า (จังหวัดบึงกาฬ-เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ) ออกแบบแล้วเสร็จ ประเทศไทยและสปป.ลาวกำลังหารือร่วมกันในการลงทุนก่อสร้าง
สาม ลดขั้นตอนและระยะเวลาการผ่านแดนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Cross Border Transport Agreement:CBTA) โดยขอให้ประเทศสมาชิกร่วมหารือด้านการพัฒนากฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค ในส่วนของไทยนั้น พร้อมที่จะให้สัตยาบันภายในต้นปีหน้านอกจากนี้ ผมขอเสนอว่า เราควรจะเพิ่มเติมเส้นทาง๘ และหมายเลข12 ในสปป.ลาว(นอกเหนือจากเส้นทางหมายเลข 9) ที่เชื่อมกับไทยด้านจังหวัดนครพนม ให้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงระบบการขนส่งข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ด้วย โดยอาจจะร่วมกันจัดให้มีการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทาง กรุงเทพฯ-สะหวันนะเขต-ดานัง หรือเส้นทางอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามแล้ว
สี่พัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ในขณะที่ยังมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอีกมากนอกจากการพัฒนาไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศและซื้อขายกันระหว่างประเทศสมาชิก ก็ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปประเทศที่สามได้ ซึ่งผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราได้ตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Regional Power Coordination Center) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านนี้
ห้าระดมทุนเพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ผมใคร่ขอความร่วมมือจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยสนับสนุนแผนปฏิบัติการลงทุนของภูมิภาค (Regional Investment Framework: RIF) ในส่วนของไทย ก็มีความพร้อมที่จะมอบหมายให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เป็น
หน่วยงานสนับสนุนทางการเงินและทางวิชาการและตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทยก็พร้อมที่จะเป็นแหล่งระดมทุนอีกทางหนึ่ง
หกปรับปรุงสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค เนื่องจากการลงทุนของเอกชนเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความเจริญในระเบียงเศรษฐกิจ ผมเสนอให้พิจารณาให้มีกลไกการประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินของ SMEs จะส่งผลสำคัญในการสร้างขีดความสามารถ การสร้างศักยภาพของ SMEs ในอนุภูมิภาค และขอให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน
เจ็ดร่วมมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติดังที่ทุกท่านได้ตระหนักถึงแล้วว่า ผมขอให้ความสำคัญต่อการร่วมกันเตรียมตัวรองรับต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาดังกล่าว ดังนั้น พวกเราจึงต้องร่วมมือกันสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงสีเขียว (หรือ Green Mekong)
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้ และคาดหวังอย่างยิ่งให้การประชุมในครั้งนี้เกิดผลสำเร็จและเป็นรูปธรรม และมุ่งก้าวสู่ความร่วมมือ GMS ในทศวรรษที่สามด้วยกัน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th