วันนี้ (20 ธ.ค. 2557) เวลา 11.59 - 12.05 น.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 อย่างไม่เป็นทางการ ณ โรงแรมแชง-กรีลา กรุงเทพฯ ต่อผู้นำประเทศ GMS สรุปดังนี้
ประการแรก เรื่องการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในมิติของความเหลื่อมล้ำ อาจแบ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในประเทศและความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค
ด้านความเหลื่อมล้ำในประเทศ ประเทศไทยมีการพัฒนาในอดีต ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสูง โดยความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติที่สำคัญได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม
ขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้าเรื่องการปรองดองและปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังตามแผนการดำเนินงาน Roadmap ซึ่งเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยจะให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นสำคัญ
ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลพยายามที่จะดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีโอกาสที่จะมีรายได้สูงขึ้น มีโอกาสก้าวหน้าไปเป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ถึงมือคนในระดับล่าง เช่น ภาคเกษตรและการท่องเที่ยว
สำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่จะมีรายได้สูงขึ้นจำเป็นต้องปรับปรุงทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้นเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ฝีมือแรงงานสูง หรือเข้าสู่ภาคบริการที่ให้ค่าจ้างแรงงานสูงกว่า รัฐบาลจึงเร่งปรับปรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา วางระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เรียกว่า Thai Vocational Qualification และสนับสนุนให้เอกชนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงวางระบบที่จะให้เทียบฝีมือ และประสบการณ์ในการทำงานกลับมาเป็นวุฒิการศึกษาได้
ในระดับที่เป็นผู้ประกอบการแล้ว วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางควรได้รับความช่วยเหลือเพื่อที่จะเติบโตแข่งขันกับผู้ที่มีทุนมากกว่าได้ ผู้มีรายได้น้อยและวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง มักจะประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐบาลจึงพยายามที่จะให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยการสนับสนุนแหล่งเงินกู้สำหรับรายย่อย micro และ nano finance การค้ำประกันสินเชื่อ กองทุนร่วมทุน และแก้กฎหมายให้สินทรัพย์หลากหลายประเภทที่ SMEs มีอยู่ มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้
ในเชิงพื้นที่ ประเทศไทยมีความพยายามในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ โดยเห็นว่าพื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า จึงต้องพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยมีกฎระเบียบสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านและเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และในระดับโลกได้ โดยในท้ายที่สุด จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้มากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทยต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เป้าหมายที่มีความสำคัญยิ่ง จำนวน 5 พื้นที่ ประกอบด้วยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงเมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ทั้งสองแห่งเป็นบริเวณพื้นที่ชายแดนที่อยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทยซึ่งจะสนับสนุนและเพิ่มโอกาสของการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของ GMS ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมรอบๆ ด่านพรมแดน โดยเร่งขยายพื้นที่ด่านพรมแดนเร่งขยายเส้นทางถนน ทั้งเส้นทางสายหลักและสายรอง เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อไปยังด่านพรมแดนได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เร่งลดความแออัดภายในด่าน ลดเวลาดำเนินงานพิธีการศุลกากร ส่งผลต่อการลดต้นทุนและเวลาของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยจะเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
ด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ คือ คุณภาพการศึกษาและบริการสาธารณสุข ถึงแม้เด็กส่วนใหญ่จะเข้าสู่การศึกษาระดับประถมแล้ว แต่คุณภาพการศึกษาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังต่างกันมาก และคนที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะมีแต่คนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง การลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาต้องปรับปรุงระบบโรงเรียน ครู และดูแลเด็กยากจนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพราะพัฒนาการทางสมองมีความสำคัญมากในช่วงที่อยู่ในครรภ์จนถึงก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล
ในด้านสุขภาพเช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีระบบสุขภาพถ้วนหน้าที่ทุกคนได้รับบริการ แต่คุณภาพและการให้บริการ ยังแตกต่างกันระหว่างในเมืองกับชนบท
ด้านกฎหมายและระบบยุติธรรม มีเสียงสะท้อนว่า ผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถต่อสู้คดีเพื่อปกป้องตัวเองได้ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงจะหลบหลีกกฎหมายได้เราจึงต้องปรับปรุงระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดช่องว่างนี้
ด้านความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีคิดว่าการดำเนินงานของ GMS จะช่วยสร้างโอกาสการเจริญเติบโต ของประเทศสมาชิกที่ยังมีรายได้น้อย ให้ขยายตัวได้มากขึ้นโดยเน้นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวนำ เป็นแนวทางที่มีประโยชน์มาก และ GMS ยังมีแผนที่จะสร้างระบียงเศรษฐกิจ โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนเพิ่มขึ้น และนำ CBTA มาใช้อำนวยความสะดวกให้ได้จริงและยังขยายโครงข่ายคมนาคม โดยการเชื่อมโยงทางรถไฟด้วย นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ต้องเร่งเดินหน้าในเรื่องเหล่านี้
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าแผนงาน GMS ต้องหันมาให้ความสำคัญแก่การกระตุ้นและดึงดูดให้เกิดกาลงทุนในอนุภูมิภาคให้เกิดการลงทุนเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ห่วงโซ่การผลิต และบริการเชื่อมกันได้หมด แต่การดึงดูดการลงทุนจำเป็นต้องปรับปรุง กฎระเบียบการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งกรณีลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง และลงทุนเชื่อมโยงการผลิตในหลาย ๆ ประเทศสมาชิก
ปัญหาสำคัญของแผนงานของ GMS คือ การขาดแคลนแหล่งเงินทุน เพราะลำพังเงินของ ADB ยังไม่เพียงพอสำหรับแผนงานใน RIF ทั้งหมด แต่ ADB ควรจะเป็นนายหน้าหรือผู้แนะนำประเทศสมาชิก ให้สามารถหาแหล่งเงินทุนจากที่ต่างๆ และช่วยพัฒนาโครงการที่เอกชนจะสามารถร่วมลงทุนได้ แบบ PPP
ประการที่ 2 การเชื่อมโยงกับกรอบความร่วมมือภูมิภาคอื่นๆ ในภาพรวม ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานความร่วมมือในกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเห็นว่า แต่ละกรอบความร่วมมือ มีจุดเน้นประเด็นการดำเนินงานต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นความร่วมมือในแต่ละกรอบสามารถมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันได้
ตัวอย่าง เช่น GMS เป็นกลไกขับเคลื่อน connectivity ของ ASEAN เพราะการเชื่อมโยงทางบกของประเทศสมาชิก ASEAN ทั้ง 5 ประเทศอยู่ที่นี่ และยังเชื่อมโยงไปถึงประเทศจีนด้วย ในขณะที่การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ของประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดประโยชน์ในการค้าขายที่ใช้ประโยชน์ผ่าน connectivity ใน GMS ได้มากขึ้นหรือการอำนวยความสะดวกด้านการค้า GMS ให้ความสำคัญแก่ CBTA ที่จะมีรถบรรทุกวิ่งผ่านพรมแดนได้ โดยไม่ต้องตรวจสินค้าซ้ำซ้อน ในขณะที่ ASEAN Single Window จะช่วยให้การตรวจอนุมัติสินค้าผ่านแดน ได้แบบ single stop service และเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกด้วย
ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงถึงการสนับสนุนการทำงานของกรอบความร่วมมือต่างๆ ซึ่งมีจุดเน้น หรือจุดแข็งต่างกัน ซึ่งยังคงมีอีกหลายด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ ADB ได้ลองไปช่วยศึกษาและพิจารณาต่อว่า การเชื่อมโยงกับกรอบความร่วมมือต่างๆ ยังมีอะไรอีกบ้างที่ควรจะทำให้สอดคล้องกันและเสริมกัน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นด้านสังคม ที่อาจจะเป็นผลกระทบจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากความเชื่อมโยงที่มีมากขึ้น ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ ยาเสพติด โรคระบาด การเคลื่อนย้ายเงินทุนของกลุ่มอาชญากรรม การค้ามนุษย์ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือกันบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เราจะต้องร่วมหาวิธีการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และความร่วมมือที่ยั่งยืนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th