ไทย-จีน ลงนามความร่วมมือ 4 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือตลาดทุนและตลาดเงินระหว่างสองประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2014 15:16 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีและนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ในโอกาสนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ในโอกาสนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2557 ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

พิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ประกอบด้วย

1 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารประชาชนจีน (The Memorandum of Understanding on the Designation of the Renminbi Clearing Bank in Thailand)

ผู้ลงนามฝ่ายไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประทศไทย กับนางหู เสี่ยวเลี่ยน รองผู้ว่าธนาคารประชาชนจีน

สาระสำคัญ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of Chaina (PBC)) ได้หารือร่วมกันเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย (RMB Clearing Bank) ซึ่งหนึ่งในมาตรการความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศไทยและจีน ตามที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11 – 13 ต.ค. 2556

การแต่งตั้งจะเป็นอำนาจของ PBC ในการเลือกธนาคารจีนในประเทศไทยรายใดรายหนึ่ง ได้แก่ Bank of China (BOC) หรือ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวน และสามารถเข้าถึงตลาดการเงินในประเทศจีนได้อย่างคล่องตัว (Direct Access to Onshore Money Market)

การแต่งตั้งให้มี RMB Clearing Bank ในประเทศไทยนั้น จะช่วยให้ไทยเข้าถึงแหล่งสภาพคล่องเงินหยวนของจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวนในระบบ ทำให้ ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวนและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างไทยและจีนได้ด้วย โดยภายใต้สัญญาฉบับนี้ RMB Clearing Bank จะได้รับการแต่งตั้งโดย PBC เพื่อให้บริการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวนแก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย นอกจากนี้ ธปท. และ PBC จะร่วมกันติดตาม กำกับดูแลการดำเนินธุรกรรมเงินหยวนในประเทศไทยอีกด้วย

2 ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท (Chinese Yuan/Thai Baht Currency Swap Arrangement) กับธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อต่ออายุความตกลง ฯ

ผู้ลงนามฝ่ายไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประทศไทยและนางหู เสี่ยวเลี่ยน รองผู้ว่าธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC)

สาระสำคัญ ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินหยวนและเงินบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เจรจากับธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC) เพื่อจัดทำ “ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินหยวนและบาท” (Bilateral Currency Swap Arrangement: BSA) ฉบับใหม่ ทดแทนฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ธ.ค. 2557 นี้ เป็นกลไกรองรับสภาพคล่อง กรณีการขาดสภาพคล่องเงินบาทหรือหยวน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนในการใช้เงินสกุลหยวนและบาทในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมให้ใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักในการทำธุรกรรมการค้าการลงทุนของจีน (Renminbi Internationalization) อีกด้วย

ภายใต้สัญญา BSA ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้มีวงเงินกรณีกู้ยืมเงินหยวนเทียบเท่า 70,000 ล้านหยวน และวงเงินกรณีกู้ยืมเงินบาทเทียบเท่า 370,000 ล้านบาท และมีอายุสัญญา 3 ปีนับจากวันที่มีการประกาศใช้

3 บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการทรัพยากรน้ำและการชลประทานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน

ผู้ลงนามระหว่างนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกณ์ และนายเฉิน เหลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานไทย – สาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในสาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทานระหว่างสองประเทศ โดยมีขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมในประเด็นการป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการและก่อสร้างเขื่อน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและมาตรการรับมือ การควบคุมภาวะอุทกภัยและการบรรเทาภัยพิบัติ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การชลประทานและการระบายน้ำ การประสานงานและร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำในระดับนานาชาติและความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือและเห็นชอบในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวแล้ว

4 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประทศจีน จำกัด (Bank of China Limited)

ผู้ลงนามระหว่างนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายเถียน กั๋วลี่ ประธานธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด

สาระสำคัญได้แก่ 1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับ Bank of China ในการเข้าถึงตลาดทุนไทย การสนับสนุนเพิ่ม visibility ของตลาดทุนไทยไปยังกลุ่มนักลงทุนจีน การนำบริษัทจีนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนไทย การส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจผ่านการอบรม และกิจกรรมทางการตลาดของไทยและจีน

2. ความร่วมมือด้าน Offshore RMB Strategy รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการของ Offshore RMB ในตลาดทุนไทย ประกอบด้วย

  • ศึกษาและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวน
  • ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เช่น RMB dominated futures

3. ความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ การออกหุ้นหรือพันธบัตร การบริหารหลักประกัน เป็นต้น

4. ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทยและเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดทุนไทย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ