สวทช. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุน ThaiGAP มาตรฐานไทย เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Friday December 19, 2014 16:20 —สำนักโฆษก

“ยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสินค้าผักและผลไม้ไทย รุกส่งออกตลาดโลก”

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้ เพื่อตรวจหาสารเคมีตกค้างปี 2557 พบว่าสินค้าผักและผลไม้เกินครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปตามห้างค้าปลีกและตลาดสดภายในประเทศ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานหรือปริมาณสารพิษตกค้าง สูงสุดที่กำหนดในสินค้าเกษตรของไทย มากถึงร้อยละ 46.6 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าผักและผลไม้ของไทยอย่างมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง ดังนั้นโครงการ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือจัดทำโครงการ “ยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP ” มุ่งพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริม และผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้รับมาตรฐาน ThaiGAP ที่จะช่วยลดการกีดกันทางการค้าในตลาดยุโรปและรุกการส่งออกเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยได้ ทั้งนี้มีกลุ่มผู้ค้าปลีก นำร่อง เทสโก้ โลตัส , ท็อป , แม็คโคร , ซีพี ออลล์ และภาคการเกษตรอีกกว่า 30 บริษัท เข้าร่วมโครงการ

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) กล่าวว่า จากการร่วมมือในโครงการ ยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP กับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย หรือ ThaiGAP ซึ่งย่อมาจากซึ่งย่อมาจาก Thai Good Agricultural Practice คือการปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานเอกชนในการจัดการคุณภาพการผลิตผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อมในการผลิต รวมถึงยังให้การยอมรับเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

หลังจากนั้น ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเครื่องหมายโลโก้ ThaiGAP พร้อมระบบติดตามพื้นที่การผลิตแบบ QR Code โดยใช้เทคโนโลยี GIS และแผนที่ดิจิตอลแบบ Online เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ และในอนาคตผู้ประกอบการ จะได้รับระบบประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามโครงการความร่วมมือ การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP สามารถช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ เนื่องจากมาตรฐาน ThaiGAP มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและการตรวจรับรองที่ถูกกว่า จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ต่อไปนี้ประเทศไทยก็สามารถมีสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเพิ่มช่องทางการส่งออก เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ถ้าหากประเทศไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว ก็จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในกลุ่มอาเซียนได้สูง

ผู้ส่งข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร pr@nstda.or.th โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณสรินยา ( 0819886614 ) ผู้ส่งข่าว , ภาพข่าว ชัชวาลย์ ( 083 032 5145 )

เจ้าหน้าที่ประสานงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร 02 564 7000 ต่อ 71730 , 71727, 71728

เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ