นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำและติดตามแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเด็นด้านการป้องกัน ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานการตรวจแรงงานประมงแบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดติดชายทะเล 22 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 17 ธันวาคม 2557 ของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประมง กรมเจ้าท่า เป็นต้น โดยได้ตรวจเรือ 58 ลำ ลูกจ้าง 761 คน ซึ่งพบการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่มีเอกสารการจ้างและเอกสารทะเบียนลูกจ้างจำนวน 1 ลำ ลูกจ้าง 30 คน เบื้องต้นเจ้าพนักงานได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดแผนการตรวจจะมุ่งเน้นไปที่จังหวัดที่มีเรือเข้าออกมาก เช่น สมุทรสาคร ปัตตานี เป็นต้น สำหรับการตรวจจะเน้นการเชื่อมโยงระบบข้อมูลจากกรมประมง โดยกระทรวงแรงงานจะเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ไอทีเพื่อมารองรับระบบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งในระยะแรกจะเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อด้านการข่าว และจุดเริ่มต้นของการทำงาน เนื่องจากหากไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีจะมีการติดตามยาก เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นอาชญากรรมที่ไม่ได้ผุดขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่จะเป็นการกระทำที่ยังลักลอบกันอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เต็มที่ ซึ่งมีความแตกต่างจากปัญหายาเสพติด ส่วนระยะที่สอง จะเน้นการปราบปรามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) กองบังคับการตำรวจน้ำ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะสามารถนำเข้าแรงงานประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากอาจมีการนำเข้าแรงงานมากกว่า 3 สัญชาติในปัจจุบัน
ส่วนแนวคิดการคัดเลือกบุคลากรของกระทรวงแรงงานที่มีความคุ้นเคยกับประมงทะเล โดยคาดว่าจะคัดเลือกเพศชาย ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ล่ำสัน เพื่อมาตั้งทีมตรวจแรงงานประมง ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะต้องเข้ารับการอบรมด้านการตรวจแรงงานประมงจากกองทัพเรือ กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือประมง และฝึกทักษะที่จำเป็นเบื้องต้น อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวจะต้องหารือเพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่เหมาะสมอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเลในพื้นที่ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีความก้าวหน้า ต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งไปยัง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลเพื่อแต่งตั้งแรงงานจังหวัดร่วมเป็นคณะทำงานด้วย และกำชับให้รายงานผลการดำเนินงานเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน ขณะเดียวกันรายงานผลการดำเนินงานกลับมายังกระทรวงแรงงานด้วย เพื่อเร่งขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเลเป็นภาพรวมต่อไป
ทั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วม ครม.และ คสช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะดำเนินการให้ขึ้นทะเบียนเรือประมงทุกลำ รวมถึงมีการติดจีพีเอส และต้องขออนุญาตก่อนออกเรือไปจับปลา เพราะหากข้ามไปน่านน้ำของประเทศอื่น จะทำให้เกิดการละเมิดทางทะเล และจะทำให้มีปัญหา ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเรือประมงนั้น เป็นไปตามกฎหมายเดิม ที่ผ่านมาขึ้นทะเบียนไม่ได้เพราะทุกคนมีผลประโยชน์ ทั้งข้าราชการการเมือง ท้องถิ่นเป็นเจ้าของเรือที่มีมากกว่า 1 ลำ
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th