นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ ได้เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะเป็นปัจจัยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต ทั้งการดึงดูดการลงทุน การชักจูงให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนพัฒนาสินค้า และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน เช่น รถอีโคคาร์ รถไฮบริด และรถไฟฟ้า EV รวมทั้งมีการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น งานของสถาบันยานยนต์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ที่มีส่วนขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต เช่น ระบบข้อมูลรถยนต์แบบเดียวกับต่างประเทศเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับรถก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค การพิจารณาตั้งศูนย์ทดสอบชิ้นส่วน และสนามทดสอบรถยนต์ เป็นต้น
สำหรับภาพรวมสภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 มีปริมาณการผลิตรถยนต์รวม 1,568,300 คัน ลดลงร้อยละ 26 สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรวม 719,410 คัน ลดลงร้อยละ 36 ในด้านการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 มีปริมาณการส่งออกรถยนต์รวม 932,365 คัน ลดลงร้อยละ 1 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU และ CKD) มีจำนวน 731,685 คัน ลดลงร้อยละ 4 สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เป็นการส่งออกโดยผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ มีมูลค่า 213,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ด้านการนำเข้า มีมูลค่านำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 13,196 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23 ดังนั้น ดุลการค้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2557 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าส่งออกมากกว่านำเข้า 16,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556
ด้าน นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้รายงานสรุปถึง ภาพรวมการจัดการประชุมสุดยอดสถาบันยานยนต์ในเอเชีย หรือ Asia Automobile Institute Summit (AAI Summit) ครั้งที่ 3 ขึ้นในประเทศไทย ในหัวข้อ “มาตรฐานความปลอดภัย ปัญหามลภาวะที่เกิดจากการใช้ยานยนต์ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการจ่ายไฟสำหรับรถ EV” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดี โดยมีสถาบันยานยนต์ในเอเชียเข้าร่วมทั้งหมด 10 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย และมีหน่วยงานเข้าร่วม จากทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา อีกกว่า 32 หน่วยงาน จำนวน 101 คน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th