นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ-พร้อมเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2014 16:55 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ ?จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อทบทวนเรื่องประสิทธิภาพของกลไกการทำงานที่มีอยู่ในเรื่องค้ามนุษย์ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น แรงงานเด็ก ขอทานบังคับ แรงงานต่างด้าว ความรุนแรงต่อสตรี และการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคประมง อย่างจริงจังและเร่งด่วน

วันนี้ เมื่อเวลา ๑๔.๐๐น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ?จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมวงเล็กเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ ในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นายพรชาต บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อทบทวนเรื่องประสิทธิภาพของกลไกการทำงาน ที่มีอยู่ในเรื่องค้ามนุษย์ ตลอดจนผลการดำเนินการของหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และหารือเรื่องแผนการดำเนินงานร่วมกันเป็นรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติต่าง ๆเช่น การค้าประเวณีเด็ก ขอทานบังคับ และการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคประมง เป็นต้น สรุปผลการหารือได้ดังนี้

๑. ที่ประชุมรับทราบถึงความคืบหน้า ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่หน่วยราชการต่างๆ ประสบ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อค้ามนุษย์และพยาน การป้องกันการค้ามนุษย์ และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามปัญหาค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะ ๑ ปีข้างหน้า

๒. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการทบทวนกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ระดับชาติเพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างเป็นบูรณาการยิ่งขึ้นและมีการขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ได้อย่างจริงจัง โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการการหารือระดับนโยบายเรื่องค้ามนุษย์ และมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นรองประธาน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ คือ คณะอนุกรรมการเรื่องค้ามนุษย์คณะอนุกรรมการเรื่องประมงและ IUU คณะอนุกรรมการเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับและแรงงานต่างด้าว คณะอนุกรรมการสตรี และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ พร้อมรายงานผลการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกเดือน โดยต้องมีเป้าหมายและแผนงานอย่างชัดเจน เช่น ให้เร่งดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงไทยให้เรียบร้อยภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และขอให้คณะอนุกรรมการทุกคณะเร่งส่งแผนการดำเนินการของตนให้นายกรัฐมนตรีภายในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘

๓. นายกรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แจงผลการดำเนินงานเรื่องค้ามนุษย์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ และในเวทีระหว่างประเทศ และมอบหมายกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์และกระทรวงแรงงานเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและประชาชนเรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

๔. นายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งรัดกระบวนการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ทั้งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมทั้งกำชับให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจับกุมและพิจารณาคดีค้ามนุษย์ เร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นไปตามกระบวนการดำเนินการที่กระชับ เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อมิให้เป็นข้อกังขาของประชาชน และกำชับให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสืบสวนและขยายผลการดำเนินคดีให้ถึงผู้มีอิทธิพลและตัวการใหญ่ให้ครบกระบวนการและครบตัวบทกฎหมาย และให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเร่งดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและถึงที่สุด

๗. นายกรัฐมนตรีมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เร่งออกระเบียบ/ข้อกำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดี กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความจริงจังของรัฐบาล ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน ช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพาและลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ เช่น ชาวโรฮิงญา หากพบให้เร่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาด

๘. นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบบริการสายด่วน (Hotline) แจ้งเหตุการค้ามนุษย์ และเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ทั้งนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือพบเห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ตลอดจนเบาะแส การทุจริตคอร์รัปชั่น สามารถติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ที่

ศูนย์ประชาบดี/ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC- One Stop Crisis Center) สายด่วน ๑๓๐๐

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ๐๒ ๖๕๙-๖๔๖๔

กองกำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ๐๒ ๕๑๓-๗๑๑๗ หรือ สายด่วน ๑๑๙๑

กรมการจัดหางาน ๐๒ ๒๔๘-๒๐๔๐ หรือ สายด่วน ๑๖๙๔

ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๐๒ ๒๘๒-๓๘๙๒-๓ / ๐๒ ๙๕๔-๒๓๔๖-๗

ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ๐๒ ๑๔๒-๒๐๓๑

กระทรวงแรงงาน ๐๒ ๒๓๒-๑๔๖๒-๔

สายด่วนผู้ใช้แรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ๑๕๔๖

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ๐๒ ๕๒๘-๔๘๐๐ – ๓๘๔๙ หรือ ๐๒ ๒๘๒-๓๑๖๑-๕

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ