ดร.พิเชฐ กล่าวว่า งานวิจัยที่กำลังมีการกล่าวถึงในขณะนี้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีคือ การพัฒนาลู่ลานกรีฑาด้วยยางธรรมชาติ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่-ลานกรีฑา และพัฒนาเทคโนโลยีลู่-ลานกรีฑาให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติภายในประเทศ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศเนื่องจากการสร้างลู่-ลานกรีฑารวมทั้งพื้นสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานหรือมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วัสดุสังเคราะห์สำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า งานวิจัยที่สามารถเพิ่มมูลค่ายางพารา ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกโครงการคือ งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด และการสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำยางที่ใช้ทางการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น สายสวนปัสสาวะ แผ่นยางที่ใช้ในทางทันตกรรมและท่อน้ำเกลือ พร้อมกับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายางล้อรถให้ประหยัดพลังงานมีความปลอดภัยในการยึดเกาะถนนและลดเสียงในขณะขับขี่
ขณะที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาถุงมือผ้าเคลือบยางเพิ่มความคงทน และเพิ่มมูลค่าจากถุงมือผ้าธรรมดาราคา 10 บาท เคลือบยางมูลค่าเพิ่มเป็น 30-40 บาท และขณะนี้ วว.กำลังศึกษาการพัฒนาวัสดุยางเชิงประกอบสำหรับอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เพิ่มคุณค่ายางธรรมชาติสำหรับใช้เป็นวัสดุรองรับแรงกระแทก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการก่อสร้าง การจราจร การขนส่ง นอกจากนี้ยังสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จีโอเท็กซ์ไทล์ จากยางธรรมชาติเชิงประกอบ สำหรับการใช้เป็นชั้นกรองปิดทับหน้าตลิ่งชนิดลาดเอียง และผลิตภัณฑ์โครงสร้างปิดทับหน้าตลิ่งลาดเอียงสำหรับใช้เป็นโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง
ด้าน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทกจากการหกล้ม โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบและพัฒนาสูตรคอมพาวนด์ยางธรรมชาติและเทคโนโลยีการทำให้ยางสุกบางส่วน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการอัดขึ้นรูป ได้ผลิตภัณฑ์ยางพาราปูพื้นที่มีคุณสมบัติสามารถรับแรงกระแทกสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยที่ทำให้มีอาการบาดเจ็บเมื่อเกิดการหกล้ม จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยกับผู้สูงอายุและเด็ก อีกโครงการคือ การออกแบบและพัฒนาแผ่นยางปูพื้นรถยนต์จากยางพาราผสมกัญชง โดยใช้เทคโนโลยีและการผลิตยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยกัญชง พัฒนาให้สามารถแทรกตัวและเชื่อมประสานกับผ้าทอจากกัญชง ซึ่งแผ่นยางปูพื้นรถยนต์มีสมบัติลดการเกิดไฟฟ้าสถิตย์และลดกลิ่นภายในรถยนต์ นอกจากนี้ ยังพัฒนาวัสดุตกแต่งจากน้ำยางพารา เป็นการต่อยอดมาจากโครงการเฟอร์นิเจอร์น้ำยางพารา ซึ่งได้รับการพัฒนาสูตรผสมของน้ำยางพาราจากสถาบันวิจัยยาง และนำมาพัฒนากระบวนการขึ้นรูปแบบใหม่ได้เป็นเฟอร์นิเจอร์น้ำยางพารา
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นอกจากยางพาราจะมีมูลค่าสูงในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตแล้ว ในการพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นเครื่องสำอางก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยน้ำยางพารามาเป็นเครื่องสำอางขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรไวท์เทนนิง ในต่างประเทศแล้ว 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ และจีน โดย ศลช.เน้นให้ภาคเอกชนนำสารสกัดมูลค่าสูงซึ่งผลิตได้ ไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ได้พัฒนาสูตรตำรับ เซรั่ม และโลชั่นบำรุงผิวใส และสูตรลดเลือนริ้วรอย ซึ่งได้มีการจำหน่ายในท้องตลาด โดยแผนการตลาดนี้จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศได้สูง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในระยะยาว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเน้นที่จะเป็นข้อต่อ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตให้องค์กรและกระทรวงต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ข่าวโดย : ทีมโฆษก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ภาพข่าว : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th