ศธ.เตรียมผลักดันโรงเรียนอาชีวะเอกชนสู่มาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Monday December 29, 2014 14:44 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีประเด็นสำคัญจากการประชุม สรุปดังนี้

รับทราบ การจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการประชุมการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ตามที่ รมว.ศธ.มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเร่งรัดดำเนินการในภาพรวมของ ศธ. กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอเรื่องข้อเสนอแนะในการจัดเก็บภาษีโรงเรียนสอนกวดวิชาที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

สช.จึงได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าถึงข้อดีข้อเสียของการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า ควรจัดเก็บแบบลดหย่อนภาษี เนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชนได้กำหนดให้มีการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นแก่โรงเรียนเอกชน หากจะจัดเก็บภาษีแบบนิติบุคคล จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้น ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จะต้องไปพิจารณาว่าควรจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าไรและลดหย่อนอย่างไร รวมทั้งจะต้องมีการแยกประเภทของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่ประกอบเชิงธุรกิจว่า มีโรงเรียนประเภทใด ที่เข้าข่าย ต้องจัดเก็บ ส่วนการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะต้องไปแก้ประมวลรัษฎากร

หลังจากการประชุมครั้งนี้ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปจัดทำรายละเอียดในส่วนที่รับผิดชอบ จากนั้นจะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม 2558 เพื่อให้ได้ข้อยุติภายในวันที่ 18 มกราคม 2558 ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

เห็นชอบร่างมาตรฐานและเกณฑ์คุณภาพสู่มาตรฐานสากลสำหรับสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างมาตรฐานและเกณฑ์คุณภาพสู่มาตรฐานสากลสำหรับสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ให้ได้มาตรฐานสากล และยกย่องสถานศึกษาที่พัฒนาตนเองให้มีคุณภาพสู่สากลให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยได้กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประเมิน ประกอบไปด้วย 3 มาตรฐาน 15 ตัวบ่งชี้ ได้แก่

มาตรฐานที่ 1 ด้านผลการจัดการศึกษา มี 6 ตัวบ่งชี้ คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะทางวิชาชีพสูง ผู้เรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ผู้เรียนมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ ผู้เรียนมีผลงาน งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในระดับประเทศ/อาเซียน/นานาชาติและหรือได้นำไปใช้ประโยชน์ และผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะในการทำงานเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ/หน่วยงาน/ผู้รับบริการ

มาตรฐานที่ 2 ด้านการบริหารจัดการ มี 5 ตัวบ่งชี้ คือ สถานศึกษามีระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ สถานศึกษามีการระดมทรัพยากรในการจัดการอาชีวศึกษา สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูมีผลงาน นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์หรือได้รับรางวัลระดับประเทศ ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการ วิชาชีพ และจรรยาบรรณ และสถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก

มาตรฐานที่ 3 ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน มี 4 ตัวบ่งชี้ คือ สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่างประเทศในการจัดการอาชีวศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษหรือมีการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการภาษาต่างประเทศ มีการจัดให้ผู้เรียนเพิ่มพูนประสบการณ์วิชาชีพ และมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติของสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่ขอรับการประเมินว่า จะต้องจัดการเรียนการสอนในระดับชั้น ปวช./ปวส.ที่ผ่านการประเมินคุณภาพภายในจากหน่วยงานต้นสังกัด และได้รับการรับรองมาตรฐานของสถานศึกษารอบ 3 จาก สมศ. ที่มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ในระดับดีขึ้นไป โดยจะมีคณะกรรมการประเมินจำนวน 3-5 คนขึ้นอยู่กับขนาดสถานศึกษา ใช้เวลาประเมินในสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่เกิน 2 วัน

โดยคณะกรรมการประเมินดังกล่าว จะแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู หรือข้าราชการบำนาญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้บริหาร หรือครูเอกชน หรือผู้แทนสถานประกอบการ โดยมีประสบการณ์ในด้านการอาชีวศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี และผ่านการอบรมหลักสูตรกรรมการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล และได้รับวุฒิบัตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับวิธีการประเมิน จะประเมินจากผลงานเชิงประจักษ์ของผู้เรียน ผลงานครู และรางวัลที่สถานศึกษาได้รับรางวัลระดับชาติ นานาชาติ ย้อนหลัง 3 ปี เพื่อนำข้อมูลเชิงประมาณและคุณภาพไปเปรียบเทียบกับแต่ละตัวบ่งชี้ เพื่อตัดสินระดับคุณภาพตามเกณฑ์ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม (Exellence) ระดับดีมาก (Very Good) และระดับดี (Good) โดยจะได้รับเกียรติบัตรจาก สช.และได้รับอนุญาตให้จัดทำป้ายประกาศติดหน้าสถานศึกษาได้ 3 ปีการศึกษา

เห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์การอุดหนุนทางการเงิน และให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ....

ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์การอุดหนุนทางการเงิน และให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2552 โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ เพิ่มคำนิยามเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และปรับบทบาทหน้าที่ของ สช.จังหวัด และ สช.อำเภอ ในการดำเนินงานแทน สช. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และสอดคล้องกับการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

26/12/2557

update 29/12/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ