กระทรวงไอซีที แถลงผลงานรอบ 3 เดือน พร้อมแนวทางการดำเนินงานปี 2558

ข่าวทั่วไป Monday December 29, 2014 17:53 —สำนักโฆษก

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยในการแถลงข่าวผลงานรอบ 3 เดือน (12 กันยายน - 12 ธันวาคม 2557) ของกระทรวงไอซีที ในวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2557 ณ ห้องประชุม MICT ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า นับจากที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 3 เดือนเศษนั้น กระทรวงไอซีทีได้มีการนำนโยบายที่เกี่ยวข้องมาสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีนโยบาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" (Digital Economy) ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ในทุกธุรกิจตั้งแต่ระดับใหญ่ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้ระบบดิจิทัล ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขององค์กร และเครือข่ายระหว่างองค์กร ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการกระบวนงานแบบสมัยใหม่ และการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการหรือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลหลายโครงการด้วยกัน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อน Digital Economy ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ครอบคลุม Digital Economy ในด้านต่างๆ คือ 1. Hard Infrastructure 2. Soft Infrastructure 3. Service Infrastructure 4. Digital Economy Promotion 5. Digital Society และ Knowledge Resource ให้พร้อมเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติทันทีที่กฎหมายผ่านสภา และได้ให้หน่วยงานในสังกัดทบทวนภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy และจัดทำ Roadmap การขับเคลื่อน Digital Economy ระยะ 3 ปี รวมทั้งจัดทำโครงการนำร่องที่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว อาทิ 1. ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) 2. ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) 3. Application Program Interface (API) 4. e-Market Place 5. เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้พิการ 6. อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ตลอดจนจัดทำข้อมูลการบูรณาการโครงข่ายไฟเบอร์ออพติคส์ภาครัฐ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการ Digital Economy แห่งชาติ ในส่วนของ Hard Infrastructure

นอกจากนั้นยังได้นำเสนอกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติและเฉพาะกิจ 5 ด้าน รวมทั้ง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ขณะนี้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมทั้งได้ดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ และร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอีก 4 ฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับข้างต้น จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2557 นี้ และเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Cyber Security) และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ แบ่งเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมที่กระทำความผิด ในช่วงวันที่ 12 ก.ย. – 12 ธ.ค. 2557 ได้รับแจ้งการกระทำความผิดพร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่อง เว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร จำนวน 1,688 URLs ประสานงานกับเว็บไซต์ยูทูปเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 249 URLs อีกทั้งมีคำสั่งศาลอาญา (หมายเลขคดีดำ) ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 1,067 URLs และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะกรณีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชน ยึดหลักยุทธศาสตร์ 4 ป. ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ลงไปตรวจสอบเข้มงวดเกี่ยวกับการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดไปแล้ว จำนวน 2 ราย และจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป

ด้านการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาสัญญาสัมปทานดาวเทียม กระทรวงไอซีทีได้รับมอบดาวเทียมสำรอง (ไทยคม 6) เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยต้องดำเนินการกำกับให้เป็นไปตามสัญญา และดำเนินการตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 72 เพื่อดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียม IP Star และสัดส่วนการถือหุ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนสัมปทานรัฐวิสาหกิจ การแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ (บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม) ตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขณะนี้ TOR สำหรับจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้าง

สำหรับการแก้ไขปัญหากฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนระหว่างกระทรวงไอซีที กับ กสทช. ได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างกระทรวงไอซีทีกับ กสทช. โดยคณะทำงานปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ร่วมกัน ซึ่งจะมีการปรับแผนการดำเนินการต่อไป ส่วน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม จะดำเนินการจัดทำ MOU ร่วมกัน โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อจัดทำร่าง MOU คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2558 สำหรับปัญหาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ระบบดิจิทัลและดาวเทียมสื่อสาร ปัญหาการได้มาซึ่งเงินรายได้แผ่นดินอันเกิดจากการให้อนุญาต ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบกฎหมายและเกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานทั้งสอง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ กระทรวงฯ ได้มีการพิจารณา เห็นควรจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับการปรับปรุงระบบกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารของประเทศไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นอกจากนี้ยังได้มีการเร่งรัดการดำเนินงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประสานงานกับหน่วยงานทางทหาร อาทิ ดำเนินโครงการจัดสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง Optical Fiber เส้นทางสำนักงานบริการลูกค้า (กสท ปัตตานี – กสท นราธิวาส และ กสท ยะลา – กสท ปัตตานี) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 ดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการไปรษณีย์พร้อมปรับปรุงอาคารที่ทำการเดิม ปจ. ปัตตานี และอาคารที่ทำการ ปณ. กะพ้อ จ.ปัตตานี และ ปณ.สุคิริน จ.นราธิวาส จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 1 ซึ่งมีแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (WiFi Network) เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนปอเนาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 399 โรงเรียน ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 ศูนย์ จังหวัดยะลา จำนวน 5 ศูนย์ และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 1 ศูนย์ รวมทั้งมีการปรับปรุงขยายบริการเครือข่าย GIN และให้บริการระบบ Web Conference ครอบคลุม 5 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สุราษฏร์ธานีและสงขลา) นอกจากนี้มีการให้บริการระบบเยี่ยมเยือนและเยียวยาของ ศอ.บต. ผ่านบริการ G-Cloud ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับให้คำปรึกษาและดูแลระบบ และให้บริการ e-Mail ภาครัฐ (MailGoThai) แก่ข้าราชการและบุคลากรของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 500 บัญชีรายชื่ออีกด้วย

ด้านความมือระหว่างประเทศ กระทรวงไอซีทีได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการ (Secretary General) และรองเลขาธิการ (Deputy Secretary General) ในการประชุมสมัชชา สมัยที่ 13 และการประชุมคณะกรรมการจัดการ สมัยที่ 38 ขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) ณ เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า เมื่อวันที่ 23–30 พฤศจิกายน 2557 โดยรองปลัดกระทรวงฯ (นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี) เป็นผู้แทนไทยที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ APT เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการ APT ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ การได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพและความสามารถของคนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการระหว่างประเทศ

การเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 14 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 มกราคม 2558 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดการ การยกร่างเอกสารสำหรับรับรองในการประชุม การรักษาความปลอดภัย เตรียมการด้านพิธีการ การจัดงานเลี้ยงรับรอง การจัดงานมอบรางวัล ASEAN ICT Award ๒๐๑๔ การจัดทำของที่ระลึก และบัตรเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

“สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2558 นั้น กระทรวงฯ จะเร่งรัดแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายในการให้บริการโครงข่ายในจุดพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ Data Center ของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับแรก รวมถึงโครงข่ายสำหรับบริการสาธารณะในจุดที่อยู่ห่างไกล และดำเนินการอื่นๆ ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งดำเนินการตามภารกิจ และกำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของโครงสร้างกระทรวงใหม่” นายพรชัยฯ กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ