นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 ว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 สะท้อนเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขณะที่การท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
การบริโภคภาคเอกชนในพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 โดยเมื่อพิจารณาแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศพบว่า ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี ตามการลดลงของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในภูมิภาค และ กทม. ที่หดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวลงเช่นกัน และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -27.7 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 68.8 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังมีการฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในชนบทลดลง
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ที่หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -8.8 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน 2557 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงทรงตัว สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ -8.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี
ภาวะการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2557 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2557 จำนวน -69.7 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 162.3 พันล้านบาท ขณะที่เบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้จำนวน 205.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ 2 เดือนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 มีอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเท่ากับร้อยละ 20.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 (2.575 ล้านล้านบาท) และรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ -261 พันล้านบาท
สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยการส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ ยางพารา รวมถึงการหดตัวในระดับสูงในสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการปรับตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยเป็นการลดลงจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ สำหรับภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี กอปรกับผลผลิตยางพาราปรับตัวลดลงจากปัญหาฝนตกชุกในเขตพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ดี ภาคบริการ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนตุลาคม 2557 ที่กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ที่กลับมาขยายตัวเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่กลับมาขยายตัวสูงร้อยละ 58.9 ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.10 แสนคน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 158.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่าอันจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายนปี 2557
“เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขณะที่การท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า”
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -4.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี ตามการลดลงของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในภูมิภาค และ กทม. ที่หดตัวร้อยละ -13.6 และ -6.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวลง และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -27.7 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 68.8 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ค่อยกล้าจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในชนบทลดลง นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อเดือน
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 มีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤศจิกายน 2557 หดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -7.0 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.4 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนหมวดภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.1 ต่อเดือน เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2557 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -2.2 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงทรงตัว
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณพบว่ารัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้จำนวน 205.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.6 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 180.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -22.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 171.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -24.6 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 8.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 85.8 ต่อปี ทั้งนี้ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ในช่วง 2 เดือนแรกสามารถเบิกจ่ายได้ 525.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 (2,575.0 พันล้านบาท) สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้จำนวน 162.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี โดยมีรายการสำคัญ ดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ต่อปี โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราภาษี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ต่อปี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ต่อปี สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.2 ต่อปี ตามมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดุลงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขาดดุลจำนวน -69.7 พันล้านบาท
4. การส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 มีสัญญาณชะลอตัว โดยในเดือนพฤศจิกายน 2557 การส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อเดือน โดยการส่งออกที่ปรับตัวลดลงมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ ยางพารา รวมถึงการหดตัวในระดับสูงในสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสำคัญ สำหรับตลาดส่งออกหลักที่การส่งออกที่มีการหดตัวลดลงมากในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่หดตัวร้อยละ -18.7 -10.7 และ -5.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวได้ดีในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย กลุ่มอาเซียน-9 กลุ่มอาเซียน-5 และกลุ่มอินโดจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 9.0 9.0 และ 8.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าต่ำกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย ส่งผลทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขาดดุลที่ -0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการปรับตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อเดือน โดยมาจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ เครื่องแต่งกาย และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 89.7 โดยเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การค้าชายแดนยังคงขยายตัวได้ดี กอปรกับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลง สำหรับภาคเกษตรกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.9 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดธัญพืชเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี กอปรกับผลผลิตยางพาราปรับตัวลดลงจากปัญหาฝนตกชุกในเขตพื้นที่ภาคใต้ทำให้ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ รวมไปถึงสับปะรดโรงงานที่มีผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ดี จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งปัญหาโรคระบาดในกุ้งที่คลี่คลายลง สำหรับภาคบริการ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.44 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนตุลาคม 2557 หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยนักท่องเที่ยวระยะใกล้จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลับมาขยายตัวเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่กลับมาขยายตัวสูงร้อยละ 58.9 ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง
6. ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคงโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ และไข่ไก่ลดลงจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.10 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 46.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 158.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th