สกย. สถาปนาครบรอบ 54 ปี ก้าวสู่ปีที่ 55 คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2557 พัฒนาองค์กรดีเด่นในภาพรวม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหายางตามนโยบาย หวังคืนความสุขเกษตรกรชาวสวนยาง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 17:32 —สำนักโฆษก

สกย. สถาปนาครบรอบ 54 ปี ก้าวสู่ปีที่ 55 คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2557 พัฒนาองค์กรดีเด่นในภาพรวม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหายางตามนโยบาย หวังคืนความสุขเกษตรกรชาวสวนยาง

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมตักบาตรพระสงฆ์ 55 รูป และร่วมยินดี ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 54 ปี ก้าวสู่ปีที่ 55 ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) พร้อมฉลองรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นปี 2557 ประเภทรางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่นในภาพรวม

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ตลอด54 ปีที่ผ่านมา สกย. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ สกย. มาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาบุคลากรและมุ่งให้บริการ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนางานด้านบริการ และจากการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง สกย. ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นถึง 2 ปีซ้อน คือ ปี 2556 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประเภทการพัฒนาองค์กรดีเด่นด้านการบริหารจัดการสารสนเทศ และล่าสุด ปี 2557ก็ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประเภทรางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่นในภาพรวม

จากวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยการให้บริการที่เป็นเลิศ เพื่อเสริมสร้างสังคมชาวสวนยางสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน” สกย. ยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าแก้ปัญหายางพาราตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยปีงบประมาณ 2558 - 2564 จะดำเนินโครงการสำคัญ 4 โครงการ คือ 1) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต มีเป้าหมายโค่นสวนยางเก่าที่ให้ผลผลิตต่ำ ปีละ 400,000 ไร่ และปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีประมาณ 300,000ไร่ อีก 100,000 ไร่ จะส่งเสริมปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล เป็นต้น คาดว่าจะช่วยลดผลผลิตยางในตลาดได้ประมาณปีละไม่น้อยกว่า 101,600 ตัน 2) โครงการลดต้นทุนการผลิต สกย.สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง พันธุ์RRIT 251 และ พันธุ์ RRIT 408 ส่งเสริมให้เกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนแนะนำให้เกษตรกรดูแลสวนยางอย่างถูกต้อง รวมทั้งผลักดันการตั้งตลาดยาง ทั้งตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่น ตลาดประมูลยาง และตลาดยางอีเล็กทรอนิกส์ ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายยางที่เป็นธรรมอีกด้วย 3) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นภารกิจหลักของ สกย. เน้นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตทุกรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เสริมให้เพิ่มขึ้น และ4)โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สกย. นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยาง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในสวนยางให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เช่น การทำยางพาราควบคู่กับการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ หรือไม้ผลที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ การทำสวนยางควบคู่กับปศุสัตว์ในสวนยาง เป็นต้น

นอกจากนี้ สกย. ยังได้แก้กฎระเบียบในการให้การสงเคราะห์ โดยอนุญาตให้ลดจำนวนต้นยางที่ปลูกจากเดิมไร่ละ 76 ต้น เหลือไร่ละไม่น้อยกว่า 40 ต้นได้ โดยเกษตรกรยังจะได้รับการสงเคราะห์อัตราเดิม คือ ไร่ละ 16,000 บาท / 7 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้สวนยางมีพื้นที่ว่างในการปลูกพืชอื่นๆ หรือ เลี้ยงสัตว์ สนับสนุนการทำสวนยางตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่กระทบต่อการทำสวนยาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม สามารถเลี้ยงครอบครัว และยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเอง เพื่อคืนความสุขแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์

โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871

moacnews@gmail.com

www.moac.go.th

www.facebook.com/kasetthai

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ