ธรรมาภิบาล : ปัจจัยสำคัญที่สุดในการผลักดันระบบมหาวิทยาลัยดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องการให้การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อดึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งออกมา เป็นการช่วยเหลือกันเองในวงการของมหาวิทยาลัย เพราะในการพัฒนามหาวิทยาลัยไม่ต้องการให้คิดว่าใครจะมาช่วยเหลือ แต่เราต้องช่วยตัวเอง ช่วยเหลือกันเอง รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะงบประมาณเท่านั้น และขอให้ทุกคนทำความเข้าใจระบบนิเวศ (Ecology) ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อที่เราจะได้มีทิศทางและสามารถมองไปข้างหน้าได้
จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในสภามหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการผลักดันระบบมหาวิทยาลัย คือ หลักธรรมาภิบาล เพราะเรื่องของนโยบายและแผนควรจะต้องเป็นไปตามพันธกิจทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม แต่การดำเนินงานต่างๆ ควรจะต้องใช้หลักธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะและประชาชน ให้ได้รู้ถึงบทบาทของมหาวิทยาลัย การดำเนินงานต่างๆ มีสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับพื้นที่ด้วยแนะให้มองออกจากมุมของตนเองหรือ Outside-Inจึงขอให้ทุกคนมองออกจากมุมของตนเอง คือมองจากข้างนอก (Outside-In) เข้ามาบ้าง เพราะเราอาจจะคิดว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อประชาชน สาธารณชน แต่หากไปสอบถามจากประชาชนหรือมองจากข้างนอกเข้ามา จะพบว่ายังไม่มีทิศทางชัดเจนมากนัก อีกทั้งบางอย่างเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยประชาชนยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ฉะนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสารและแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีดีอะไร กำลังทำอะไรเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยมี Accountability ต่อสาธารณะขณะนี้มีข่าวคราวและประเด็นปัญหาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเผยแพร่ต่อสาธารณะจำนวนมาก เป็นการแสดงให้เห็นว่า บางมหาวิทยาลัยยังไม่มีการรับผิดรับชอบ (Accountability) ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียน การฟ้องร้อง การใช้เงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดหลักสูตร ควรมีการทบทวนในบางหลักสูตรว่า เกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งเรื่องของหลักสูตรก็จะไปสะท้อนตัวเลขการมีงานทำของผู้ที่จบการศึกษา
จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าในจำนวนนักศึกษา 3 คน จะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีงานทำในปีแรก ดังนั้น จึงต้องการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทบทวนการเปิดหลักสูตรด้วย เพราะนั่นหมายถึงการลงทุนของรัฐ ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง รวมทั้งเวลาที่ผู้เรียนจะต้องใช้ไปกับการเรียนถึง 4 ปีมหาวิทยาลัยควรนำโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้งในการผลิตบุคลากรมหาวิทยาลัยควรนำโจทย์ของประเทศมาเป็นตัวตั้ง เพราะโจทย์ของประเทศก็คือโจทย์ของมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยได้ผลิตคน ผลิตบุคลากร ออกไปเป็นกำลังสำคัญตามเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ เช่น การ Retrain คน โดยเฉพาะคนในวัยทำงานซึ่งมีจำนวนมาก และจะกลายเป็นคนสูงอายุในอนาคต เพื่อให้สามารถเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบน้ำ การพัฒนาคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศ
ขอให้ มช.เป็นแบบอย่างการประเมินมหาวิทยาลัยในกำกับจากการที่ได้มีโอกาสร่วมประเมิน มช. ในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับ พบว่าการดำเนินงานก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ต้องการให้เป็นแบบอย่างของมหาวิทยาลัยในกำกับอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ควรมีการประเมินเกี่ยวกับการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน บ้านเมือง รวมทั้งการลงทุนโครงการต่างๆ ด้วยว่า ประเทศได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากจำนวนผู้จบการศึกษา นวัตกรรม ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ เป็นต้นฝ่ายนโยบายและแผน ควรเป็นสมองของแต่ละมหาวิทยาลัยในตอนท้าย รมช.ศึกษาธิการ ได้ยกตัวอย่างคำกล่าวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้และวิทยาศาสตร์ เพราะเราคงไม่สามารถใช้วัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหรือระบบท่องเที่ยวได้ ดังนั้น จึงขอให้ฝ่ายนโยบายและแผนของมหาวิทยาลัยเป็นกำลังสำคัญในการวางแผนผลักดันงาน/โครงการต่างๆ เป็นสมองของมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน โดยใช้หลักมองแบบรอบด้าน ทั้งมองจากข้างในออกไปข้างนอก มองจากข้างนอกเข้ามา
ในขณะเดียวกันก็จะต้องจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศต่อไป
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
9/1/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th