รับทราบรายงานความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการชุดนี้เป็นครั้งที่สอง (ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557) โดยได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Education Reform & Coaching Lab) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ต้องการส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ได้กำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต เป็นหน่วยงานนำร่องในการส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหาร (หรือกระจายความรับผิดชอบ) และการจัดการศึกษาครอบคลุมโรงเรียนนำร่องเขตละ 15 โรงเรียน
เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขตดังกล่าว คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 17 เขต คือ สพป.ขอนแก่น เขต 1, เชียงราย เขต 1, ตราด, นครราชสีมา เขต 1, นครสวรรค์ เขต 3, น่าน เขต 1, พระนครศรีอยุธยา เขต 2, ภูเก็ต, ระยอง เขต 2, ราชบุรี เขต 2, ลพบุรี เขต 2, ลำปาง เขต 3, ศรีสะเกษ เขต 4, สุราษฎร์ธานี เขต 1, สตูล, อุบลราชธานี เขต 3 และอำนาจเจริญ ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 3 เขต คือ สพม.เขต 5, สพม.เขต 22 และ สพม.เขต 28
ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาปีงบประมาณ 2558 โดยทุกเขตพื้นที่การศึกษานำร่องจะต้องสรุปและรายงานผลการดำเนินงานตามวงรอบ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ต่อ รมว.ศึกษาธิการ
หารือถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา
ที่ประชุมได้หารือถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ในคณะกรรมการชุดนี้ โดย สกศ.ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา การปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา การปฏิรูประบบการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาเต็มรูปแบบ การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูประบบการผลิตครู การปฏิรูประบบการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปกฎหมายการศึกษา ซึ่งที่ประชุมขอให้ สกศ.ประมวลความเห็นจากที่ประชุม ซึ่งอาจจะมีการลดหรือเพิ่มคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ และเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการทำงานการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ ควรกำหนดกรอบระยะเวลาเพื่อให้เห็นผลชัดเจนในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี (มกราคม-ธันวาคม 2558) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับระยะเวลาการบริหารราชการของรัฐบาลที่ได้ประกาศใน Roadmap บริหารราชการแผ่นดินเป็น 3 ระยะ และการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ 2 ส่วน โดยในส่วนแรก จะต้องทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย อีกส่วนหนึ่ง คือการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่มีผลกับนักเรียนโดยตรงและอยู่ในอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็สามารถดำเนินการไปได้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารวดเร็วขึ้น
เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในการปรับบทบาทองค์กร
ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอของ สกศ.ในการปรับแก้ไขและจัดทำรายละเอียดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ใหม่ของสำนักงานฯ เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติ การกำหนดนโยบายและการพัฒนามาตรฐานการศึกษาชาติ ซึ่งขับเคลื่อนโดยองค์คณะบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ มีความรอบรู้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีความเป็นอิสระจากการเมือง ซึ่งควรจะแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพราะการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบจะต้องมีความสอดคล้องในแนวทางเดียวกันกับนโยบายของรัฐบาล สปช. และ สนช.
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 9/1/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th