รัฐบาลเตรียมจัดโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพโดยนำผลผลิตกล้วยไม้จากเกษตรกรมาจำหน่ายที่ทำเนียบรัฐบาลเริ่มวันจันทร์ที่ 19 มกราคมนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday January 13, 2015 17:49 —สำนักโฆษก

โฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลเตรียมจัดโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพโดยนำผลผลิตกล้วยไม้จากเกษตรกรมาจำหน่ายที่ทำเนียบรัฐบาลเริ่มวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2558 นี้ เพื่อพัฒนาช่องทางของการตลาดกล้วยไม้คุณภาพให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

วันนี้ (13 ธ.ค.58) เวลา 14.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กล้วยไม้เป็นสินค้าไม้ดอกที่มีมูลค่าการค้าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ในเขตร้อน ซึ่งจะมีตลาดรับซื้อกล้วยไม้ทั่วโลก โดยตลาดสำคัญจะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส จีน และสหรัฐอเมริกา สำหรับแหล่งผลิตและส่งออกกล้วยไม้สำคัญคือประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้อันดับหนึ่งของโลกส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยไม้เขตหนาว ส่วนประเทศไทยรองลำดับสอง เป็นแหล่งผลิตและส่งออกกล้วยไม้ในเขตร้อนอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตกล้วยไม้ที่สำคัญและเป็นคู่แข่ง ประกอบด้วย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศคู่ค้าสำหรับกล้วยไม้ตัดดอก คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และอิตาลี

ทั้งนี้พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 22,000 ไร่ เฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 – 2 ต่อปี พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา เพราะสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ อีกทั้งยังใกล้แหล่งน้ำและตลาด ตลอดจนการคมนาคมขนส่งสะดวดอีกด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดใกล้เคียงให้มากขึ้น เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงและมีปัญหาเรื่องมลภาวะของน้ำและอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของกล้วยไม้

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยไม้เชิงธุรกิจ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สุพรรณบุรี และจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้อยู่จำนวนประมาณ 3,000 ราย มีผู้ส่งออกกล้วยไม้ จำนวนประมาณ 115 ราย ผลผลิตดอกกล้วยไม้เฉลี่ยประมาณ 45,000 – 46,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 -2 ต่อปี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพที่ทางรัฐบาลดำเนินการว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาช่องทางของการตลาดกล้วยไม้คุณภาพให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดภายประเทศและขจัดปัญหาอุปสรรคในการส่งออกกล้วยไม้ ถือว่าเป็นการขยายตลาดกล้วยไม้ของไทย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตกล้วยไม้ให้ได้มาตรฐาน สนับสนุนด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ค้าดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยคุณภาพให้มีความเข้มแข็งอีกด้วย

สำหรับแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การรณรงค์ให้มีการใช้กล้วยไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อขยายตลาดกล้วยไม้ในประเทศทั้งตลาดระดับล่าง ระดับบน รองรับผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอก และกล้วยไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยจะมีการจัดงานแสดง ประกวดผลผลิตและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของการที่จะมีการพัฒนาตลาดกลางกล้วยไม้ ก็เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกล้วยไม้ภายในประเทศของเกษตรกร นอกจากตลาดกล้วยไม้บริเวณปากคลองตลาด โดยจัดตั้งตลาดกล้วยไม้ที่มีมาตรฐานในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานราชการ เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตร หรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดให้กระจายไปทั่วประเทศ ทั้งในแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม สถานบันเทิง จัดสถานที่และรวบรวมให้เกิดศูนย์กลางจำหน่ายกล้วยไม้ในระดับภูมิภาคกระจายไปในแหล่งผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ทั่วประเทศ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกกล้วยไม้ เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการ เป็นการรณรงค์เพื่อสร้างความต้องการใช้กล้วยภายในประเทศ เช่น การจัดงานแสดงและประกวดการใช้ประโยชน์ของกล้วยไม้ ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางต่อคณะรัฐมนตรีถึงการจัดประกวดกล้วยไม้ให้เป็นกิจกรรมขนาดใหญ่และจัดแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อจะได้นำผลผลิตกล้วยไม้ต่าง ๆ มาประกวดกัน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดการแสดงและประกวดผลผลิตกล้วยไม้ และการจัดตลาดนัดกล้วยไม้ในกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการจัดตลาดนัดจำหน่ายกล้วยไม้คุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง ณ บริเวณข้างถนนทำเนียบรัฐบาล ฝั่งริมคลองผดุงกรุงเกษม ประกอบด้วย การจำหน่ายต้นกล้วยไม้ ดอกกล้วยไม้ ไม้ใบไม้ดอก ไม้ประดับอื่น ๆ การจัดแสดงนวัตกรรมกล้วยไม้ไทย ทั้งประติมากรรมกล้วยไม้พันธุ์ใหม่หลากหลายสีสัน กล้วยไม้กลิ่นหอม กล้วยไม้เฉลิมพระเกียรติ ลานช้างชนช้าง กล้วยไม้มาตรฐานส่งออก และการเพิ่มมูลค่ากล้วยไม้ เช่น การนำกล้วยไม้มาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัย กล้วยไม้อบแห้ง ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ อังคาร และวันพุธ โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2558 เวลา 09.00 – 18.00 น. โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งนี้กิจกรรมตลาดนัดจำหน่ายกล้วยไม้ดังกล่าวจะดำเนินไปจนถึงเดือนมีนาคม 2558

สำหรับการจัดตลาดนัดกล้วยไม้จากเกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ จะจัดขึ้นในจังหวัดในภูมิภาคที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ และจังหวัดแนวชายแดน รวมทั้งการพัฒนาตลาดกล้วยไม้ ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งการจัดตลาดชั่วคราวในพื้นที่ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ในพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร รองรับผู้ค้ากล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับในการจัดกิจกรรมแสดงกล้วยและจำหน่ายต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง อตก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์และสมาคมที่เกี่ยวข้องรับที่จะดำเนินการในช่วงเดือนกุมพันธ์ถึงเดือนกันยายน 2558 ทั้งนี้ ส่วนการจัดตั้งตลาดกล้วยไม้ถาวรในพื้นที่ตลาด อตก. ดำเนินการโดยจัดพื้นที่ขนาด 2,000 ตารางเมตร รองรับผู้ค้ากล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งค้าปลีกและค้าส่งในช่วงเวลากลางคืน ขณะที่การขยายตลาดกล้วยในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดตั้งศูนย์กลางตลาดกล้วยไม้ในภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ที่สำคัญ โดยรวบรวมข้อมูลและจัดแสดงกล้วยไม้ของผู้ผลิตและผู้ค้ากล้วยไม้ในภูมิภาค พร้อมทั้งจะมีการจัดทำเว็ปไซต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกล้วยไม้อย่างครบวงจร โดยมีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว

ขณะเดียวกันด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออก จะดำเนินการทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กล้วยไม้ส่งออก รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากมาตรการ Sanitary and plant Sanitary (SPS) และ/หรือ NTB ของประเทศคู่ค้า และพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองตามมาตรการที่คู่ค้ากำหนด โดยกรมวิชาการเกษตรรับไปดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม 2558 – เดือนกันยายน 2559 อีกทั้งพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลกล้วยไม้ส่งออกเพื่อให้สามารถใช้ในการวิเคราะห์หาแนวทางส่งเสริมตลาดต่างประเทศ รวมทั้งจัดให้มีมาตรการอำนวยความสะดวกในการส่งออกกล้วยไม้ ณ ด่านตรวจพืชตามแนวชายแดน ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานกล้วยไม้ให้มีมาตรฐานบังคับ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็รับที่จะดำเนินการต่อไปเช่นกัน ส่วนการวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการขยายการส่งออกกล้วยไม้ดั่งกล่าวต่าง ๆ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรับไปดำเนินการ พร้อมทั้งให้มีการจัดโรดโชว์และเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับในต่างประเทศ โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรรับดำเนินการต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ