นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุม Morning Brief ที่ผ่านมา (7 ม.ค.) ได้รับรายงานความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่มีการแก้ไขไป 45 มาตราจากนางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการประกันสังคมว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ได้พิจารณาครบทั้ง 45 มาตราแล้ว คาดว่าไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะสามารถนำเข้าคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ได้ ทั้งนี้ การแก้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นส่วนสำคัญที่เอื้อต่อการปฏิรูประบบประกันสังคมสำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อาทิเช่น เพิ่มสิทธิด้านสุขภาพในการป้องกันโรค ขยายระยะเวลาในการยื่นผลประโยชน์ทดแทน 7 ประการ อาทิ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเพิ่มเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากเดิมไม่มี การกำหนดค่าใช้จ่ายเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่จะมีให้โดยไม่ดูว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก โดยหากเป็นการทำงานตอบแทนเป็นนายจ้าง ลูกจ้างกันจริง จะครอบคลุมด้วย และให้ผู้ประกันตน ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ กรณีคลอดบุตร ดำเนินการให้เงินเหมาจ่ายคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีสงเคราะห์บุตร สามารถรับเงินทดแทนสงเคราะห์บุตรได้ 3 คนจากเดิม 2 คน กรณีว่างงาน ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน เพิ่มในกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัยโดยไม่มีการเลิกจ้างจะมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้าง
กรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้ ในร่างใหม่กำหนดให้ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังถึงแม้ไม่มีการสมทบจะได้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ขึ้นมาโดยจะได้เงินสงเคราะห์หากเกิดกรณีเสียชีวิต ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ กรณีทุพพลภาพและตาย จากเดิมจะไม่คุ้มครองแต่ในร่างฯ ใหม่จะให้มีการคุ้มครอง กรณีทุพพลภาพ จากเดิมเมื่อแพทย์ตรวจแล้วจะต้องมีการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปถึงจะเรียกว่าผู้ทุพพลภาพ ร่างฯ ใหม่ไม่ต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานถึงร้อยละ 50 จะถือว่าเป็นผู้ทุพพลภาพด้วย แต่ว่าในด้านการจ่ายประโยชน์ทดแทนอาจจะไม่ถึง 50% อาจจะลดหย่อนลงบ้างแต่ถือว่าให้สิทธิ์ผู้เจ็บป่วยที่ไม่ถึงเกณฑ์ มีการขยายระยะเวลาการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนจากเดิมเพียง 1 ปี เป็น 2 ปี ขยายความคุ้มครองไปที่ลูกจ้างส่วนราชการ ชั่วคราวทุกประเภท "ลูกจ้างชั่วคราว" ให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ส่วนการจ้างเหมาบริการ สัญญาปีต่อปี ฯลฯ เป็นต้น
ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2557 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวน 13,625,658 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 10,029,777 คน ผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1,124,765 คน และผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 2,471,116 คน (ที่มา : สำนักงานประกันสังคม)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th