เมื่อวานนี้ (11 ม.ค. 58) นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะในด้านการบำบัดฟื้นฟู และดูแลผู้ผ่านการบำบัด ซึ่งได้มอบหมายให้กระกรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปี 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 โดยมีเป้าหมายบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในทุกระบบ จำนวน 220,000 ราย พร้อมติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดในปี 2557 – 2558 ให้ได้ร้อยละ 80 ของจำนวน 230,000 ราย
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศอ.ปส.มท.) จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ทุกจังหวัด เร่งดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว โดยในส่วนของการปฏิบัติงานได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอ ทำหน้าที่คัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยให้จำแนกและประเมินความรุนแรงของผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู เพื่อส่งไปบำบัดฟื้นฟูในสถานที่บำบัดหรือสถานที่อื่นตามความเหมาะสมกับความหนักเบาของการใช้สารเสพติด รวมทั้งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองอย่างเป็นระบบ ด้านการติดตามให้ความช่วยเหลือให้จัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูระดับจังหวัดและอำเภอ ทำหน้าที่จัดระบบการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครทุกประเภทในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้ทำหน้าที่ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด จากนั้นศูนย์การช่วยเหลือฯ ในระดับอำเภอ จะทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ย้ำให้ทุกฝ่ายได้ติดตามดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือให้ผู้ผ่านการบำบัดมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิต สามารถกลับเป็นคนดีของสังคม และที่สำคัญคือป้องกันไม่หวนกลับไปใช้สารเสพติดอีก
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 เน้นพัฒนาระบบรองรับการคืนคนดี
สู่สังคม และส่งเสริมความเข็มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้หมู่บ้าน/ชุมชนเป็นแกนหลักในการรวมพลังร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเอง และเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล
ที่มา: http://www.thaigov.go.th