รับทราบนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สพฐ.
ที่ประชุมรับทราบนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2558 โดยมีสัดส่วนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คือ นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นักเรียนทั่วไป (นักเรียนในเขตพื้นที่บริการรวมกับนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการ) ให้รับนักเรียนทั่วไป ไม่น้อยเกินร้อยละ 60
รับทราบรายงานผลการดำเนินการขององค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
ที่ประชุมรับทราบรายงานการดำเนินงานตามภารกิจของคุรุสภา ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2556 เพื่อยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นที่ยอมรับของสังคม ประกอบด้วยภารกิจสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านมาตรฐานวิชาชีพ
1) มีการรับรองคุณวุฒิและปริญญาที่เป็นสาขาขาดแคลนตามความต้องการของหน่วยผู้ใช้ โดยได้ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการคุรุสภา กำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลนด้านอาชีวศึกษา 86 สาขา เพื่อให้ผู้ที่มีคุณวุฒิสาขาการขาดแคลนดังกล่าว สามารถขอหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา มีอายุ 90 วัน เพื่อใช้ในการสมัครสอบครูผู้ช่วย
2) การผลิตครูตามโครงการนวัตกรรมการผลิตครูจากโรงเรียน จะทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคุรุสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่ง และโรงเรียนที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 10 แห่ง ในวันที่ 16 มกราคม 2558 ในลักษณะโครงการนำร่องเพื่อผลิตครูตามสมรรถนะใหม่ ที่เน้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การวางสมรรถนะครูใหม่ การพัฒนามาตรฐาน และหลักเกณฑ์ของคุรุสภา
2. ด้านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
1) การจัดอบรมหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมไทยและจรรยาบรรณของวิชาชีพสำหรับชาวต่างประเทศ และการออกวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรมของสมาคมโรงเรียนนานาชาติ จำนวน 32 รุ่น รวม 751 คน
2) การอบรมตามหลักสูตรอบรมความรู้ เพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของชาวต่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชาวต่างประเทศที่มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือปริญญาอื่น และสอบผ่านรายวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรอง หรือจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะจากภาครัฐหรือองค์กรวิชาชีพที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น พิจารณาแล้วเทียบได้ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต ต้องผ่านการอบรม 21 ชั่วโมง ประกอบด้วยภาษาและวัฒนธรรม 15 ชั่วโมง และกฎหมาย 6 ชั่วโมง
3) ชาวต่างประเทศที่มีวุฒิปริญญาอื่น และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากต่างประเทศ ต้องผ่านการอบรม 42 ชั่วโมง ประกอบด้วย ภาษาและวัฒนธรรม 15 ชั่วโมง กฎหมาย 6 ชั่วโมง แนวคิดการจัดการศึกษาไทย 3 ชั่วโมง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ 9 ชั่วโมง และจิตวิทยาการเรียนรู้ 9 ชั่วโมง
4) การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการให้บริการผู้ประกอบวิชาชีพครูชาวต่างประเทศ ณ จุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จัดประชุมหารือแนวทางบูรณาการความร่วมมือการให้บริการผู้ประกอบวิชาชีพครูชาวต่างประเทศ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และคุรุสภา โดยที่ประชุมเห็นชอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำรูปแบบ One Stop Service ที่มีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อพิจารณาในการประชุมหารือครั้งต่อไปในเดือนมกราคมนี้
5) การเข้าสู่วิชาชีพครูของชาวต่างประเทศ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) การขออนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้/ประสบการณ์วิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด ซึ่งจะอนุญาตคราวละ 2 ปี และขอขยายได้ไม่เกิน 6 ปีต่อเนื่อง 2) การขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ คือ - มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ - มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง หรือวุฒิปริญญาอื่น และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากต่างประเทศหรือคุณวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านการศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือวุฒิปริญญาอื่น - สอบผ่านรายวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรอง หรือจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะจากภาครัฐหรือองค์กรวิชาชีพที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น พิจารณาแล้วเทียบได้ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต - ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คุรุสภากำหนด - มีผลวัดระดับความสามารถด้านภาษาที่ใช้สื่อสารในการจัดการเรียนการสอนตามที่คุรุสภากำหนด - มีใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) - ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนด รวม 42 ชั่วโมง
3. ด้านการพัฒนาตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ดำเนินการโครงการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พร้อมทั้งกำกับดูการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
4. ด้านการยกย่องวิชาชีพ ดำเนินการจัดงานวันครู ครั้งที่ 59 พ.ศ. 2558 ภายใต้แนวคิด “ครูดีศรีแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 10-16 มกราคม 2558 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ให้ลดเวลาการจัดอบรมครู เน้นคุณภาพอย่างเข้มข้น ให้ความสำคัญกับสาขาที่ขาดแคลน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
1. การพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษา เป็นสถานศึกษาวิชาชีพเฉพาะทาง ที่ประชุมรับทราบการพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษา ให้เป็นสถานศึกษาวิชาชีพเฉพาะทาง ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษา เป็นสถานศึกษาวิชาชีพเฉพาะทางครอบคลุมกลุ่มอาชีพด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และธุรกิจบริการ เพื่อเพิ่มบทบาทสำคัญเพื่อส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอาชีวศึกษาสาขาเฉพาะทางร่วมกับกลุ่มประเทศ CLMV
2. ผลการดำเนินงานใน 3 เดือนแรก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 คัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 16 กลุ่มอาชีพ ได้แก่
- อัญมณีและเครื่องประดับ กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง
- ยานยนต์บริการ วิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
- แม่พิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
- ท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย
- โรงแรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตและวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ
- พาณิชย์นาวี วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช
- แมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก
- เกษตรอินทรีย์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา
- ไฟฟ้า วิทยาลัยเกษตรและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ
- อิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
- ปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด
- ปิโตรเลียม วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่
- บัญชี วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน
- อาชีวะฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี
- ช่างเชื่อม วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร
- เครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด
ระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 17 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เชฟ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช เกษตรอุตสาหกรรม ประมง ก่อสร้าง สถาปัตยกรรม แฟชั่น สิ่งทอ เทคโนโลยีระบบเสียง ซ่อมบำรุงอากาศยาน พลังงานทดแทน ขนส่งระบบราง กายอุปกรณ์ และการบริบาล (ทารกและผู้สูงอายุ)
3. แผนการดำเนินงาน 6 เดือน ได้แก่ กำหนดแผนปฏิบัติงาน ประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน จัดอาชีวศึกษาทวิภาคี การเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ปรับรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์และพัฒนาครู ตลอดจนวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายการลงทุน
4. แผนการดำเนินงาน 1 ปี ได้แก่ จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ ทบทวนและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะร่วมกับสถานประกอบการ พัฒนาครูด้าน Multi-Skill ครูเฉพาะทาง และครูในสถานประกอบการ ขยายการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคี ติดตามผลการพัฒนาในรอบ 1 ปี และนำร่องแนวทางการพัฒนาต้นแบบ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล
5. โครงการอาชีวะอาสา เทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินโครงการอาชีวะอาสา “ซ่อม สร้าง เสริม ส่งสุขสู่ประชาชน” ของ สอศ. เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2557 - 5 มกราคม 2558 ซึ่ง สอศ.ได้จัดนักเรียนนักศึกษาและครูกว่า 30,000 คน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อาชีวะอาสา จำนวน 250 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์ของประชาชนตามถนนสายหลักและถนนสายรอง ตลอดจนถึงให้บริการเครื่องดื่ม ผ้าเย็น บริการนวดผ่อนคลาย เป็นต้น ซึ่งประชาชนนำรถประเภทต่างๆ เข้ารับบริการตลอด 7 วัน รวมทั้งสิ้น 40,317 คัน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
1. การประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ที่ประชุมรับทราบมาตรฐานและหลักเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนเอกชนให้มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ของสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน 15 ตัวบ่งชี้ คือ
- มาตรฐานที่ 1 ด้านผลการจัดการศึกษา มี 6 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) ผู้เรียนมีสมรรถนะทางวิชาชีพสูง 2) ผู้เรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ 3) ผู้เรียนมีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ 5) ผู้เรียนมีผลงาน งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ อาเซียน นานาชาติ และหรือได้นำไปใช้ประโยชน์ 6) ผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะการทำงานเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ หน่วยงาน ผู้รับบริการ
- มาตรฐานที่ 2 ด้านการบริหารจัดการ มี 5 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) สถานศึกษามีระบบสารสนเทศในการบริการจัดการ 2) สถานศึกษามีการระดมทรัพยากรในการจัดการอาชีวศึกษา 3) สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูมีผลงาน นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์หรือได้รับรางวัลระดับประเทศ 4) ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการ วิชาชีพ และจรรยาบรรณ 5) สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
- มาตรฐานที่ 3 การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน มี 4 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่างประเทศในการจัดการอาชีวศึกษา 2) มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษ หรือจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการภาษาต่างประเทศ 3) มีการจัดให้ผู้เรียนเพิ่มพูนประสบการณ์วิชาชีพ 4) มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน
- เกณฑ์การตัดสิน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเยี่ยม ผลประเมินได้คะแนน 36-45 ระดับดีมาก ผลประเมินได้คะแนน 26-35 และระดับดี ผลประเมินได้คะแนน 16-25
2. ผลการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทสามัญศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ที่ประชุมรับทราบผลการประเมินสถานศึกษาเอกชนประเภทสามัญศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ปีงบประมาณ 2557 ซึ่งมีโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 22 โรงเรียน มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก จำนวน 20 โรงเรียน และอยู่ในระดับดี จำนวน 2 โรงเรียน
ผลลัพธ์ที่ได้รับ คือ ผู้เรียนมีความสามารถทางการเรียนสูง สื่อสารได้สองภาษา มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และงานอาชีพ สถานศึกษามีคุณภาพด้านวิชาการ ครูและผู้บริหารมีคุณภาพ โรงเรียนมีระบบการบริหารที่ดี มีปัจจัยพื้นฐานเอื้อต่อการเรียนรู้ และมีเครือข่ายพัฒนาการจัดการศึกษา
สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
1. โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรการบูรณาการคุณธรรมจริยธรรม ในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้ใช้คุณธรรมจริยธรรม เป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ โดยมี ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี รับผิดชอบโครงการ
ผลการดำเนินงาน ในระยะที่ 1 ดำเนินการจัดอบรมแล้วจำนวน 8 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรมจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการภาค และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น 8,402 คน ส่วนในระยะที่ 2 จะจัดอบรมอีกจำนวน 2 รุ่น ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2558 ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีข้อเสนอแนะ คือ ผู้เข้ารับการอบรมต้องการให้มีการส่งเสริมค่านิยมหลักของคนไทย 12 และมีการกำกับติดตามอย่างจริงจังต่อเนื่อง ตลอดจนมีการจัดทำวุฒิบัตรเพื่อเก็บสะสมเป็นผลงาน
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
11/1/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th