“พาณิชย์” แนะเอกชนอย่าแตกตื่นอียูตัด GSP ให้รีบเพิ่มมูลค่าเพิ่มและคุณภาพให้แก่สินค้าเพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดภายใต้อัตราภาษีใหม่ให้ได้ และควรใช้ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิ GSP เป็นฐานการผลิตในระยะต่อไป โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนตามนโยบายรัฐบาลนางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรณีที่ EU เริ่มตัดสิทธิ GSP ไทยตั้งแต่
1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปนั้นขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้นำเข้าได้สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจมีผลกระทบบ้างในระยะต่อไป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม – กันยายน) ได้มีการขอใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 6,724.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปแล้วมูลค่า 8,559.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 78.56 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิ GSP หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๖ ร้อยละ 67.40
นางดวงกมล โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการควรหาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวรองรับ โดยการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายใต้อัตราภาษีใหม่ของ EU และควรใช้ประเทศเพื่อบ้านที่ยังได้รับสิทธิ GSP เป็นฐานการผลิต หรือเข้าไปร่วมลงทุนใน EU อาทิ ผู้ประกอบการด้านอาหารและค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่สหภาพยุโรปแล้ว
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้แสวงหาและผลักดันตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนตลาด EU และลดผลกระทบรวมทั้งกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาด EU เช่น รัสเซีย แอฟริกา ตะวันออกกลางลาตินอเมริกา และอาเซียน เป็นต้น โดยในกลางเดือนมกราคมนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ และมีกำหนดการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของเมียนมาร์เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วสำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP เช่น กุ้งแปรรูป (พิกัดฯ 160520) ยางนอกรถยนต์ (พิกัดฯ 401110) ยานยนต์ขนส่ง (พิกัดฯ 870421) สับปะรดกระป๋อง(พิกัดฯ 200820) เลนส์แว่นตา (พิกัดฯ 900150) ถุงมือยาง (พิกัดฯ 401519) วาล์วและเครื่องใช้ที่คล้ายกัน(พิกัดฯ 848180) เป็นต้น ซึ่งคู่แข่งของไทยที่สำคัญที่ถูกตัด GSP เช่นเดียวกับไทยในอาเซียนคือมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพและมาตรฐานจริงๆ
ทั้งนี้ EU ยกเลิกโครงการให้สิทธิ GSP เนื่องจากไทยมีรายได้ของประเทศตามเกณฑ์ของธนาคารโลกที่ระดับ“ปานกลางค่อนข้างสูง(Upper-Middle Income)” 3 ปีติดต่อกัน โดย EU ได้ให้สิทธิ GSP ฝ่ายเดียวแก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด ด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรตั้งแต่ พ.ศ.2514 รวม 176 ประเทศ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th