รมว.พม. กำชับเจ้าหน้าที่เร่งคัดแยกชาวโรฮิงญาที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๙๗ ราย

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 2015 17:35 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑๒ ม.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๖/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค.๕๘ กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวชาวโรฮิงญา จำนวน ๙๗ ราย ในสภาพอิดโรยอย่างหนัก หลังจากที่ได้สกัดจับกุมขบวนการขนย้ายไว้ได้ โดยชาวโรฮิงญาถูกอัดแน่นอยู่ในรถยนต์ ๕ คัน รวมจำนวน ๙๘ คน และพบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง ๑ ราย ขณะที่กำลังขนย้ายชาวโรฮิงญาผ่านเส้นทางสายนครศรีธรรมราช-สงขลา ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราชและสหวิชาชีพ ได้ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง พบว่าชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ใหญ่ จำนวน ๓๕ คน แบ่งเป็นชายจำนวน ๒๐ คน และหญิงจำนวน ๑๕ คน เป็นเด็ก จำนวน ๖๒ คน แบ่งเป็นเด็กชายจำนวน ๓๑ คน และเด็กหญิงจำนวน ๓๑ คน และเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวไทร ลงพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพกลุ่มบุคคลดังกล่าวในเบื้องต้น ทั้งนี้ หลังจากได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการในกระบวนการคัดแยกเหยื่อชาวโรฮิงญาทุกคนไม่มีการยกเว้นเด็ดขาด เพื่อให้ทราบอย่างแน่ชัดว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองหรือเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคาดว่าจะคัดแยกแล้วเสร็จภายในวันนี้ นอกจากนี้ตนยังได้ประสานขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้เร่งจับกุมผู้กระทำผิดและขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีเด็กชายอายุ ๑๒ ปี และอายุ ๘ ขวบ ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องกัน หลังเลิกเรียนต้องรีบกลับบ้าน เพื่อช่วยย่าอายุ ๗๘ ปี ทำงานเก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดห้องน้ำของสถานีรถไฟ และเก็บเศษขยะไปขาย เพื่อหารายได้เสริมช่วยครอบครัว เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดราชบุรี และกรณีเด็กชายอายุ ๑๒ ปี อยากไปเที่ยววันเด็กแต่ไม่มีโอกาส เนื่องจากต้องช่วยตาอายุ ๖๖ ปี แยกขยะเพื่อนำไปขาย และต้องดูแลยายอายุ ๖๑ ปี ที่ประสบอุบัติเหตุจนเดินไม่ได้ ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดอ่างทอง รวมถึงกรณีเด็กชายอายุ ๑๔ ปี ยอดกตัญญู ที่ดูแลพ่อที่เป็นอัมพาตและดูแลปู่กับย่าอายุ ๗๘ และ ๗๙ ปี ที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งทั้ง ๓ กรณีนี้ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการศึกษาของเด็กอย่างต่อเนื่อง และดูแลด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในครอบครัวของเด็ก พร้อมทั้งเสนอให้พิจารณายกย่องเป็นกรณีตัวอย่างของเด็กและเยาวชน ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เพื่อให้เป็นแนวทางในการประพฤติและปฏิบัติตนที่ดีต่อไปและสำหรับกรณีพ่อวัย ๘๔ ปี นำลูกทั้ง ๒ คน เป็นเด็กหญิงอายุ ๑๒ ปี และเด็กชาย อายุ ๗ ขวบ ไปฝากไว้ที่วัด เพื่อให้กินข้าวก้นบาตรพระประทังชีวิต เนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เพราะอายุมาก และครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจากกรณีดังกล่าวตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี (สนง.พมจ.สุพรรณบุรี)เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น จัดสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการศึกษาของเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กต่อไป

"สำหรับกรณีการให้เงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง ๕ ขวบ ที่มีฐานะยากจน หรือ Child support grant (CSG) เหมือนกับในหลายๆประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อสร้างสุขอนามัย และพัฒนาเด็ก โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับรายละเอียดให้เหมาะสม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป”พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ