เอสเอ็มอีแบงก์ โชว์ผลงาน ปี 2557 กำไรสุทธิ 334 ล้านบาท เน้นบทบาทตามพันธกิจ เป็นธนาคารเพื่อผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 14, 2015 11:20 —สำนักโฆษก

เอสเอ็มอีแบงก์ ประกาศผลการดำเนินงานปี 2557 กำไรสุทธิ 334 ล้านบาท พร้อมเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท รองรับการปล่อยสินเชื่อปี 2558 และลงทุนกองทุนร่วมทุนในกิจการ SMEs ของกระทรวงการคลัง เน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้ผู้ประกอบการไม่เกิน 15 ล้านบาท

ในวันนี้ (14 มกราคม 2558) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าวถึงผลประกอบการ ปี 2557 และแนวทางการดำเนินงาน ในปี 2558 โดยมี นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมแถลงข่าว

ธนาคารได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเพิ่มทุนเรือนหุ้นของธนาคารจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 100 ล้านหุ้น โดยจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 72.52 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 27.58 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าตามบัญชี ณ 30กันยายน 2557 เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใดไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารจะขายหุ้นส่วนนั้นให้กระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลังที่ถือหุ้น 98.24 % มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนตามกฏหมายและกฏข้อบังคับของธนาคาร กระบวนการต่างๆจะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ดังนั้นธนาคารควรจะได้รับเงินเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาทภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากการเพิ่มทุนกระทรวงคลังจะถือหุ้นในธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 98.88% ธนาคารจะนำเงินเพิ่มทุนมารองรับการขยายสินเชื่อในปีนี้ และแบ่งเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจำนวน 500 ล้านบาท นำไปสมทบในกองทุนร่วมทุนในกิจการ SMEs ( SMEs Private Equity Trust Fund ) ของกระทรวงการคลัง ต่อไป

ผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ 31 ธันวาคม 2557 มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท ดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ที่ขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุสำคัญเกิดจาก 1.ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้เดิมที่เป็น NPLs ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ ซึ่งลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR 2.ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจซึ่งเป็นรายย่อยได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนน่าพึงพอใจ โดยลูกหนี้ตามพันธกิจของธนาคารจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 8.5% ลูกหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ทำให้ธนาคารมีดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีภาระในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลดลง 3.ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำคือ 1.9% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจาก 2.1% ของปี 2556 ขณะเดียวกัน ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานะของธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลให้สามารถระดมเงินฝากรายใหญ่เพื่อมาปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจได้เพียงพอ ดังนั้นธนาคารจึงมีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

ในส่วนของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPLs) ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท (คิดเป็น 39.92% ของเงินให้สินเชื่อรวม ) ณ สิ้นมิถุนายน 2557 ลดเหลือ 31,960 ล้านบาท ( คิดเป็น 37.61 % ของเงินให้สินเชื่อรวม ) ณ สิ้นธันวาคม 2557 หรือลดลงเท่ากับ 3,207 ล้านบาท โดยยอดเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่จำนวน 84,986 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 93,475 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ปรับแนวทางในการขยายสินเชื่อมาเน้น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ SMEs ขนาดกลางหลายราย รีไฟแนนซ์ไปอยู่ธนาคารพาณิชย์เอกชน ประกอบกับมีลูกค้าชำระเงินต้นในระหว่างปี แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะจำนวนสินเชื่อที่เบิกจ่ายในปี 2557 ธนาคารได้ปล่อยกู้ 9,872 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ 7,163 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท จำนวน 6,841 ราย เป็นยอดสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินงานปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แจ้งมติของซุปเปอร์บอร์ดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ให้ธนาคารทราบ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1.ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น และสินเชื่อใหม่จะต้องเป็น NPLs ไม่เกิน 5% 2.ให้ธนาคารเร่งดำเนินการบริหารหนี้ NPLs ที่มีอยู่โดยเร็ว 3.ให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารทุกไตรมาส โดยยึดหลักในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การบริหาร NPLs และประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย 4.ให้ธนาคารเร่งรัดตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งธนาคารจะยึดถือหลักการที่ซุปเปอร์บอร์ดให้ไว้และจะพยายามดำเนินการในเรื่องการปล่อยกู้ให้ SMEs รายย่อย การร่วมลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในเขตภูมิภาค ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารต่อไป ในการนี้ธนาคารได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร รวมทั้งโยกย้ายพนักงานจากหน่วยงานสนับสนุน(Back Office) ให้มาอยู่ในหน่วยงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ การดูแลรักษาคุณภาพสินเชื่อ และการให้บริการลูกค้า (Front Office)เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกิจเรียบร้อยแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2558

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร.02-265-4564-5

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ