รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง "ความท้าทายของอุดมศึกษาไทย"

ข่าวทั่วไป Friday January 16, 2015 16:35 —สำนักโฆษก

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง "ความท้าทายของอุดมศึกษาไทย" แก่ผู้บริหารและบุคลากรที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับกลาง (นบก.) มจธ. รุ่น 3 จำนวน 100 คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2558

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ บรรยายตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นอาวุธสำคัญที่สุดที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ซึ่งความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาไทยนั้น นอกจากจะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว จำเป็นจะต้องมองอดีตและความเป็นมาที่ผ่านมาทั้งองคาพยพของระบบการศึกษาให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่เป็นเส้นทางของการออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทย

เนื่องจากตัวเลขเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในจำนวนประชากรไทย 9 แสนคน หากเทียบเป็นเด็กจำนวน 10 คนแล้ว จะพบว่ามีเด็ก 1 คนที่จบออกจากการศึกษาไปก่อนการศึกษาภาคบังคับโดยไม่วุฒิการศึกษาและหล่นไปเป็นแรงงาน ในขณะที่เด็กจำนวน 5 คน ก็จบเพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ คือเด็กไทย 6 ใน 10 คน จบออกจากชั้น ม.3 ไปก็เข้าสู่วัยแรงงาน เหลือจำนวน 4 คนที่เดินเข้าสู่อุดมศึกษา ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จบอุดมศึกษาและได้งานทำในปีแรก และถึงแม้จะได้งานทำ แต่ก็ยังคงได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าวุฒิ ในขณะที่การเรียนอุดมศึกษา 4 ปี แต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่ายมากหรือมีหนี้สินในการเรียนมากถึง 3-4 แสนบาทต่อคน การอุดมศึกษาไทยจึงอาจดูเหมือนจะสูญเปล่าเป็นอย่างมาก

ดังนั้น หากเราจะเข้าใจอุดมศึกษาไทย ก็จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งรู้จักตนเอง เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบการศึกษาไทย ซึ่งในอดีตทศวรรษแรกของระบบการศึกษาไทย ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนจบออกไปทำงานได้ กล่าวคือ

  • ทศวรรษ พ.ศ.2450-2490 เริ่มจากการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกในรัชกาลที่ 5 มีการออกแบบหลักสูตรให้ผู้จบระดับประถมศึกษาออกไปประกอบอาชีพได้
  • ทศวรรษ พ.ศ.2490 ถึง 2510 หรือสมัยต้นรัชกาลที่ 9 เริ่มให้เอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ มีการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 4 ปีเป็น 7 ปี มีการขยายอุดมศึกษาในภูมิภาค
  • ทศวรรษ พ.ศ.2510 ถึง 2540 มีการขยายตัวการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน มีการเปิดโรงเรียนในชนบทมากขึ้น เปิดโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ขยายการอุดมศึกษาเอกชน ราชภัฏ ราชมงคล
  • ทศวรรษ พ.ศ.2540 ถึงปัจจุบัน นำแนวคิดการบริหารองค์กรธุรกิจภาคเอกชน มาใช้บริการสถานศึกษา

เมื่อมองอนาคตประเทศไทย พบว่าใน 20 ปีข้างหน้า คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุ (65 ปี) มากขึ้น ขณะเดียวกันสัดส่วนเด็กต่อประชากรจะลดลงเป็นอย่างมาก สถาบันการศึกษาทุกระดับจึงต้องวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่จะลดน้อยลงเป็นอย่างมากด้วย ซึ่งการอุดมศึกษาก็ต้องเตรียมตัวโดยให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัยมากขึ้น โดยนอกจากจะมีส่วนช่วยจัดการศึกษาแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องสุขภาพประชากรด้วย เพราะรัฐบาลก็มีขีดจำกัดในการดูแลระบบสุขภาพของประเทศ

เมื่อมองมหาวิทยาลัยในอดีตยุคแรกของโลก ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ โมร็อกโก สเปน ต่างผลิตคนออกไปเพื่อรักษากาย/ใจ/ความขัดแย้งของสังคม แต่มหาวิทยาลัยสมัยใหม่ควรคำนึงถึงการให้ครูกับศิษย์สามารถร่วมกันสร้างความเข้มแข็งทั้งต่อมหาวิทยาลัยและต่อสังคม นอกจากนี้ ต้องมองถึงการเปลี่ยนโลกทัศน์ ที่เริ่มหันมามองโลกตะวันออกแทนโลกตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งต้องมีความเข้าใจเรื่องอาเซียน โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องอิสลามและวัฒนธรรมมาเลย์ เพราะประชากรในอาเซียนกว่าร้อยละ 60 นับถือศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้องเลิกเปิดหลักสูตรที่ผู้จบออกไปแล้วไม่มีงานทำหรือไม่ได้รับค่าจ้างตามวุฒิ แม้จะมีผู้เรียนอยู่และสร้างรายที่ดีให้มหาวิทยาลัยอยู่แล้วก็ตาม

ในส่วนของผู้บริหารนั้น ไม่ควรใช้แต่หลักวิชาการอย่างเดียว เพราะจะทำให้คิดแต่เรื่องเทคนิค (Technical Brain) หรือคิดแยกส่วน คิดแต่หน่วยงานของตนเอง ไม่ได้มองสังคมทั้งระบบ ซึ่งเป็นการคิดแบบ Social Brain ดังเช่น อ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวเอาไว้ ควรใช้ "เทศาภิวัตน์" หรือการปฏิรูปการบริหารประเทศ จากการเอากรมเป็นตัวตั้ง ให้เป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

รมช.ศึกษาธิการ ได้ฝากประเด็นความท้าทายของมหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่า มหาวิทยาลัยในปัจจุบันต้องทำงานและอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายวัย ทั้ง Gen x หรือคนที่มีอายุช่วง 50 ปี, Gen Y/Millennial หรือผู้ที่มีอายุช่วง 40 ปี, Selfie Gen หรือกลุ่มคนที่มีอายุช่วง 20 ปีในปัจจุบัน ซึ่งชอบเซลฟีเป็นอย่างมาก ด้วยความหลากหลายเหล่านี้มหาวิทยาลัยจึงควรเป็นองค์กรนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาเชิงความคิดและการทำงานคนทุกกลุ่ม การทำงานจึงควรสร้างการสื่อสารภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนทั้งมหาวิทยาลัยร่วมกันคิดและมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยต้องยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือระบบการจัดการที่ดี สร้างระบบการสร้างผู้นำต่อเนื่อง มีระบบพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยตลอดวัฏจักรชีวิตอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ หรือผู้บริหาร ทั้งยังต้องสร้างความโปร่งใส (Transparency) มีความรับผิดและรับชอบ (Accountability) ต่อผลผลิต ซึ่งควรจะต้องมีรายงานกิจการมหาวิทยาลัยที่ดี (Good University Report) ต่อสาธารณชน

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการได้กล่าวฝากผู้บริหาร นบก. รุ่นใหม่ว่า ควรเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องลุกขึ้นทำด้วยตนเอง ด้วยการทำความเข้าใจภาพอนาคต (Scenario) ซึ่งจะมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย และต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน ที่สำคัญต้องมีพันธสัญญาใหม่ต่อสังคม (New Social Contract) หรือมาตรการและข้อกำหนดที่มหาวิทยาลัยและสังคมร่วมทำการตกลง และยอมรับถึงผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนดนั้น

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

15/1/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ