หากจะดูแลเด็กสักคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หรือ “All for Education” ดังภาษิตแอฟริกันที่ว่า “หากจะดูแลเด็กสักคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงสอนวิชาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงกระบวนการทักษะต่างๆ ต่อการใช้ชีวิตของผู้เรียนด้วย การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและการปฏิรูปประเทศ แต่ในปัจจุบันเด็กๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งคุณค่าและนิสัย เพราะฉะนั้น "ครู" จึงต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากที่จะสร้างคนยุคใหม่เหล่านี้
การจัดการศึกษาให้คำนึงถึงอนาคต ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัย
นอกจากนี้ โลกในอนาคตของไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัย ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงวัย หรือผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรไทย แต่ในอนาคตจะมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะส่งผลถึงอายุประชากรที่ยืนยาวขึ้น มีการเปลี่ยนงาน หรือการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นศิษย์ของเราในศตวรรษที่ 21 ก็จะไม่ใช่คนในวัยเรียนเท่านั้น แต่จะเป็นคนวัยทำงานอีกกว่า 35 ล้านคน รวมทั้งคนที่เกษียณจากการทำงานแล้ว ฉะนั้นหน้าตาของสถาบันการศึกษาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันไปโดยสิ้นเชิง
Fatoni University : มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมนักวิชาการมุสลิมคุณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โลกเปลี่ยนแปลงไป มีผลถึงกระบวนการแสวงหาความรู้ใหม่ของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ในอนาคตจะมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ฉลาด (Smart) ขึ้น เช่นปัจจุบัน Smartphone หรือ Tablet ต่างเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนมากขึ้น ต่างจากอดีตที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเท่านั้น ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุสามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการทางด้านอินเทอร์เน็ต ที่จะทำให้โลกทั้งโลกจะมีอินเทอร์เน็ตของทุกอย่าง จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารกันได้หมด โดยสภาพแวดล้อมจากสื่อใหม่จะส่งผลให้การใช้งานไม่เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น แต่จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารทั้งตัวอักษร ภาพ เสียง การ์ตูน ฯลฯ เช่นระบบไลน์ในปัจจุบัน ที่จะส่งผลให้เกิดการคิดแบบใหม่ๆ และมีองค์กรที่ซับซ้อนขึ้น ส่งผลให้มีทั้งกลุ่มคนหลากหลายวัยทั้ง X-Gen,Y-Gen,Selfie-Gen อันทำให้ทักษะในการทำงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย รวมทั้งการสอนที่จะต้องให้เด็กๆ เข้าใจการคิดลึกกว่าสิ่งที่เห็นได้ หรือมี Sense Making คิดแบบมีตรรกะมากขึ้น ให้เด็กมีความสามารถในการเข้าใจคน ปรับตัวได้ รู้เท่าทันหรือควบคุมสื่อสมัยใหม่ให้ได้ ในอนาคตการทำงานจะไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เท่านั้น แต่คนอยู่ละที่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ ปัจจัยใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้คนรุ่นใหม่แตกต่างไปจากคนรุ่นปัจจุบัน แต่กระบวนการแสวงหาความรู้ใหม่ของประเทศไทยไม่ได้หมายถึงต้องเริ่มจากศูนย์ แต่สามารถดูบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ได้
เผยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ควรมี 3R 7C 2L
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำโครงการ INTREND โดยนำเสนอแนวโน้มสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน 3 ประการ คือ 1) ทิศทางกระบวนการเรียนรู้ใหม่ 2) ทิศทางเนื้อหาการเรียนรู้ใหม่ และ 3) ทิศทางระบบบริหารจัดการใหม่ เพื่อสร้างทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตมากกว่าวิชาความรู้ เช่น ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (3R 7C 2L) 3R คือ ทักษะพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) และการคิดคำนวณ (Arithmetic) 7C คือ ทักษะเท่าทันโลก ได้แก่ การมีวิจารณญาณ (Critical thinking & problem solving) ความสร้างสรรค์ (Creativity & innovation) การทำงานเป็นทีม (Collaboration & teamwork & leadership) ความเข้าใจพหุวัฒนธรรม (Cross-cultural understanding) การสื่อสารเป็น (Communication, information & media literacy) ความรู้เท่าทันเทคโนโลยี (Computing & media literacy) ความพร้อมด้านอาชีพ (Career & learning self-reliance change) และ 2L คือ ทักษะการเรียนรู้และความเป็นผู้นำ (Learning & leadership)ในการดำเนินการจัดการความรู้แบบ 3R 7C 2L จะใช้ห้องเรียนสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ห้องเรียนแบบเดิมอีกต่อไป จะไม่มีการสอนโดยที่ครูเป็นผู้สื่อสารทางเดียว แต่ต้องเป็นการสอนที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ได้แก่ 1) การเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-Based Learning) เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา 2) การเรียนรู้บนฐานการวิจัย (Research-Based Learning) เป็นการสอนให้ถามและตอบคำถาม เพื่อกระตุ้นความใฝ่รู้และทักษะ 3) การเรียนรู้คู่กับการทำงาน (Work-Based Learning) เพื่อเสริมทักษะความพร้อมด้านอาชีพไปพร้อมกับการเรียน และ 4) การเรียนรู้คู่กับการบริการ (Service Learning) เพื่อสร้างทักษะชีวิตและจิตสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม
(1st Assalam Assembly Day) "สู่ .. ครูผู้สร้างประชาชาติ"
ย้ำให้ครูต้องปรับตัวโดยใช้เนื้อหาความรู้แบบใหม่ในการจัดการเรียนการสอน
ครูต้องใช้เนื้อหาความรู้แบบใหม่ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคม การสร้างประชากรที่มีความหมายและมีคุณค่าต่อสังคมในอนาคต ในสหรัฐอเมริกามีการเรียนการสอนวิชาอนาคตศึกษา ซึ่งใช้หลักการ เหตุผล เหตุการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งประวัติศาสตร์ในการทำนายและวิเคราะห์อนาคต นอกจากนี้ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อยู่ในเขตภัยพิบัติ มีการเรียนการสอนวิชาภัยพิบัติศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติให้กับประชาชน
จะเห็นได้ว่าทั้งสองวิชาเป็นการเรียนการสอนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสาระวิชาหลักการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะการทำงานให้พร้อมกับการประกอบอาชีพ ต้องมีการจัดทำแผนที่อาชีพ (Occupation Plan) โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่ สหรัฐอเมริกามีการจัดการศึกษาทางเลือก ที่เรียกว่า Career Academy เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพควบคู่กับการปฏิบัติจริง เป็นการสร้างชีวิตการทำงาน ให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำงาน สามารถบริหารจัดการการเงิน เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน การลงทุน ฯลฯ โดยมีรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนให้ความร่วมมือ
ควรเน้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ รัฐบาลควรเป็นเพียงผู้ให้บริการทางการศึกษา
การจัดระบบการศึกษาใหม่ในหลายประเทศ มีการกระจายอำนาจลงไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น เน้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและความซับซ้อนต่างกัน ผู้จัดการศึกษาจะต้องเข้าใจต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละพื้นที่ก่อนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ด้วยการเปิดเวทีสาธารณะ อีกทั้งรัฐบาลกลางจะลดบทบาทจากการเป็น “ผู้จัดการศึกษา” กลายเป็น “ผู้ให้บริการทางการศึกษา” เป็นแนวคิดที่คล้ายกับการรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่สามารถเข้ารักษาในคลินิกเครือข่ายที่อยู่ในระบบได้ด้วยเช่นกัน
การศึกษาในลักษณะเชิงพื้นที่จะต้องปรับหลักสูตร วิธีการวัดและประเมินผลที่หลุดไปจากการจัดการศึกษาแบบ “เสื้อเบอร์เดียว” คือ การจัดการศึกษาจะต้องมีความยืดหยุ่น ในการปฏิรูปครู ต้องเปลี่ยนมโนทัศน์ของครู การจัดการเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจากการศึกษาทางวิชาการเป็นการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้เรียน ซึ่งไม่ได้มาจากประชากรในวัยเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงวัยทำงานและผู้สูงวัยด้วย ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศไทยอยู่ในวัยทำงานและมีการศึกษาไม่สูงนัก ระบบการศึกษาของไทยไม่เปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มนี้กลับเข้ามาในระบบได้อีก ดังนั้นจะต้องหาทางนำผู้ที่อยู่ในวัยทำงานกลับเข้ามาในระบบการศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ เปิดงานมหกรรมวิชาการอัสสลาม ครั้งที่ 1
ความสำเร็จปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่เพียงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่อยู่ที่จัดการศึกษาไปสู่การดำรงชีวิต มีงานทำ สัมมาชีพ และเรียนรู้ตลอดชีวิต
การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ ทุกคนต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า ความสำเร็จของผู้ที่มีการศึกษาคือผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี ครูสมัยใหม่ต้องเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน สอนทักษะชีวิต ให้ผู้เรียนรู้จักโลกของการทำงาน ครูจะไม่เป็นเพียงผู้ให้ความรู้เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เป็นนักจัดการการเรียนรู้ นักแนะแนว ดังนั้น จะต้องมีการลงทุนเรื่องการพัฒนาครูอย่างจริงจังด้วยการใช้นวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่การฝึกอบรมแบบระบบโรงแรมที่ใช้เวลาฝึกอบรมในโรงแรมเพียงไม่กี่ชั่วโมง ครูจะต้องเป็นผู้สอน (Coach) ซึ่งความสามารถในการเป็นผู้สอนที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปริญญา
วิธีการพัฒนาครูให้ได้ผลรวดเร็ว คือให้ครูได้รับการพัฒนาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างแรงจูงใจ รู้จักจริตของผู้เรียน รู้ถึงความพร้อมและความต้องการของผู้เรียน โดยการจัดกิจกรรมทางเลือกเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน ครูต้องรู้จักและสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องพบกัน เป็นชุมชนครูบนโลกไซเบอร์
การสร้างผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องจัดการศึกษาที่นำไปสู่การดำรงชีวิต การมีงานทำ มีสัมมาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถือเป็นเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าการเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา
เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าของ University Fatoni
ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมครั้งนี้ เพื่อต้องการประกาศเจตนารมณ์ พันธกิจ ของคณะศึกษาศาสตร์ และการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งเป็นชื่อเดิมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 จนกระทั่งปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อและประเภทเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (Fatoni University) จนกระทั่งปัจจุบัน ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก คือ คณะอิสลามศึกษา รวมทั้งคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศึกษาศาสตร์ รวมทั้งศูนย์ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ และมลายู
ปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศในเอเชีย 14 ประเทศ กว่า 4,000 คน ปัจจุบันถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมนักวิชาการมุสลิมคุณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์มหาวิทยาลัยอิสลามโลกด้วย
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
17/1/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th