ผลประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสความร่วมมือ วทน.ไทย-ลาว เห็นพ้องเพิ่มเติมจากเดิมอีก 2 สาขา

ข่าวทั่วไป Monday January 19, 2015 17:00 —สำนักโฆษก

16 ม.ค.58 ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส การประชุมหารือเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือด้าน วทน.ไทย-ลาว ภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่าง 2 ประเทศ จากเดิม 14 สาขา มีข้อสรุปเพิ่มเติมอีก 2 สาขา ครอบคลุมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเทคโนโลยีนิวเคลียร์

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไทย-ลาว โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ เป็นหัวคณะฝ่ายไทย และนายมะลัยทอง กมมะสิทธิ์ อธิบดีกรมแผนการและร่วมมือ สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายลาว

รศ.ดร. วีระพงษ์ กล่าวว่า การประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานะความก้าวหน้าของความร่วมมือใน 14 สาขา ได้แก่ 1.เทคโนโลยีทางชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.พลังงานหมุนเวียน 3.เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 4.ดาราศาสตร์ 5.เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน 6.เทคโนโลยีอวกาศ การสำรวจระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศ 7.มาตรวิทยาและการมาตรฐาน 8.การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ 9.การเสริมสร้างนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม 10.อุทยานวิทยาศาสตร์ 11.การจัดการทรัพยากรน้ำ 12.ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี 13.การพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ 14.เทคโนโลยีเพื่อชุมชน ตามที่ได้หารือกันในการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 -28 พฤศจิกายน 2557 รวมถึงแนวทาง ข้อเสนอแนะ และแผนงานความร่วมมือ เพื่อจะได้ร่วมดำเนินโครงการความร่วมมือให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยมีอีก 2สาขาเพิ่มเติม รวมเป็น 16 สาขา

สถานะความร่วมมือภายหลังจากการลงนามความตกลง มีดังนี้

1.ความร่วมมือ ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) (สสนก.) กับ กรมเทคโนโลยีนวัตกรรม สปป.ลาว

จากการดำเนินงานภายใต้กรอบ ASEAN COST และ Krabi Intiative ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีรายละเอียดดังนี้

  • ในปี 2555 ได้มีการลงนามความร่วมมือ Joint Research and Development Project Cooperation เรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทย-ลาว เพื่อเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่จะขยายผลต่อไป ซึ่งมีความร่วมมือ 2 ด้าน ได้แก่ 1.)การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการติดตั้งสถานีโทรมาตร 5 สถานีในพื้นที่ สปป.ลาว 2.)การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ
  • ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการดำเนินงานดังนี้ 1.การศึกษาดูงานจัดการน้ำชุมชน และสถานีโทรมาตร ที่ จ.เชียงราย และศึกษาดูงานจัดการน้ำชุมชนที่ จ.บึงกาฬ และ จ.หนองคาย 2.การแลกเปลี่ยนนักวิจัยมาปฏิบัติหน้าที่ที่ สสนก. จำนวน 2 คน ณ ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปจัดทำและพัฒนาเว็บไซด์ loowater.net และฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรการเกษตร เพื่อเรียนรู้รูปแบบและแนวทางการดำเนินงานการจัดทำทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ในปี 2558 จะขยายผลดำเนินงานโครงการร่วมกัน ดังนี้ 1.ขยายพื้นที่ติดตั้งสถานีโทรมาตรให้สมบูรณ์เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศเพิ่มเติมจำนวนเพิ่มเติมอีก 1 สถานี 2.สร้างตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ชุมชนตัวอย่างของ DTI ณ Ban Nhainachaleun 3.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมงาน

จากการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้การดำเนินงานภายใต้กรอบ AEC และ ASEAN COST ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ขยายตัวจากความร่วมมือไทย-ลาว ไปสู่ระดับอาเซียน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเกิดคลังข้อมูลน้ำในระดับอาเซียน โดยมีความก้าวหน้าของโครงการดังนี้

1.) เมื่อวันที่ 12-14 ธันวาคม 2557 คณะเจ้าหน้าที่จาก สสนก. เดินทางไปดูพื้นที่ ณ Ban Nhainachaleun นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะพื้นที่ตัวอย่างในการจัดการน้ำชุมชนของ สปป.ลาว โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันประชุมหารือร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งเก็บข้อมูลแผนผังน้ำ พิกัด GPS และโครงสร้างน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในแผนพัฒนาต่อไป 2.) คณะผู้แทนจาก DTI สปป.ลาว จะเดินทางมาดูพื้นที่ ณ จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อดูการบริหารจัดการน้ำชุมชน และนำความรู้ที่ได้รับไปไประยุกต์ใช้ในพื้นที่ Ban Nhainachaleun

2.ความร่วมมือด้านการใช้ดาวเทียมสำรวจโลก ระหว่าง สทอภ. (Geo – Informatics and Space Technology Development Agency กับ Department of Technology and Innovation สปป.ลาว โดยมีประเด็นความร่วมมือในอนาคตดังนี้

2.1 ทุนสนับสนุนเจ้าหน้าที่ด้านคลังข้อมูลและการการแปลภาพถ่ายดาวเทียมของ สปป.ลาว จำนวน 3 คน เข้าร่วมอบรม International Training Course on Remote Sensing Satellite Data for Sustainable Development ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ โดยเจ้าหน้าที่ของกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม สปป.ลาว จะได้รับความรู้ด้านการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

2.2 การติดตั้งระบบติดตามพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้ดาวเทียมความละเอียดปานกลาง เพื่อให้กรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม สปป.ลาว มีระบบรายงานและคาดการณ์ผลผลิตทางการเกษตรล่วงหน้าแบบ Near Real Time ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.3 การพัฒนาติดตั้ง GISTDA Terminal ภาคภาษาลาว เพื่อให้หน่วยงาน สปป.ลาว สามารถสืบค้นและสั่งภาพจากดาวเทียมไทยโชตได้เอง

2.4 การเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจโลก

3. ความร่วมมือด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กับ สถาบันนิเวศวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ และกรมวิทยาศาสตร์ โดยมีประเด็นความร่วมมือในอนาคตคือ

3.1 นำคาราวานวิทยาศาสตร์มาจัดแสดง ณ สปป. ลาว เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์

3.2 จัดอบรมเรียนรู้ให้กับบุคลากรของ สปป.ลาว ให้มีการพัฒนาความรู้และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3.3 การสำรวจและจัดทำข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อจัดเก็บไว้ใช้เป็นฐานข้อมูล

3.4 สร้างอาคารเก็บตัวอย่างและศูนย์การศึกษาเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

3.5 ช่วยผลักดันให้เกิดแผนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ สปป.ลาว เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับประชาชน

4.ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ ระหว่าง สดร. กับ กรมวิทยาศาสตร์ สปป.ลาว มีประเด็นความร่วมมือในอนาคตร่วมกันดังนี้

4.1 เชิญหน่วยงานจาก สปป.ลาว มาศึกษาดูงานด้านดาราศาสตร์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ และ จ.นครราชสีมา โดยเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของ สปป.ลาว จะได้เรียนรู้และเข้าใจการบริการจัดการด้านดาราศาสตร์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาดาราศาสตร์ของประเทศต่อไป

4.2 การฝึกอบรมหรือการจัดกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ อาทิ ค่ายดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน การฝึกอบรมครู เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้แก่ เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์

4.3 สนับสนุนให้มีการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านดาราศาสตร์ในประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเปิดสอนด้านดาราศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาโทและเอก นับเป็นโอกาสให้นักศึกษาที่มีความสนใจในด้านดาราศาสตร์มีโอกาสศึกษาต่อมากยิ่งขึ้น

4.4 ผลักดันให้มีแผนการจัดตั้งท้องฟ้าจำลอง โดยร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ประชาชนให้สนใจดาราศาสตร์ยิ่งขึ้น

4.5 มอบสื่อและกล้องส่องดูดาวในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 60 พรรษา และจัดอบรมให้แก่โรงเรียนใน สปป.ลาว ให้เกิดสังคมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ของ สปป. ลาว

5.ความร่วมมือด้าน เทคโนโลยีและแสงซินโครตรอน ระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับ Renewable Energy and New Material Institute (RENMI) โดยมีประเด็นความร่วมมือในอนาคตดังนี้

5.1 ให้เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อจะได้ข้อมูลความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการจิวัยพัฒนาร่วมกัน

5.2 การฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ของ สปป. ลาว ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ในการวิเคราะห์โครงสร้างทางโมเลกุลของสมุนไพรลาว โดยจัดฝึกอบรมความรู้ทางเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนทำการวิเคราะห์และวิจัยได้

สำหรับการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ ได้มีการเสนอความร่วมมือเพิ่มอีก 2 สาขา ที่ครอบคลุมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนี้

1. การติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ชีวภาพ และความหลาหลายทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ (Biology and Ecology Institute (สปป.ลาว.) จากการหารือร่วมกันทำให้รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สปป.ลาว และคณะ ที่ได้เข้าเยี่ยม สวทช. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 เกิดความสนใจในเรื่องเทคโนโลยี ชีวภาพ และความหลาหลายทางชีวภาพ จากการที่นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยของประเทศไทย ในเรื่องการศึกษาเชื้อราและแมลง โดยทางสถาบันเทคโนโลยีทางชีวภาพและนิเวศวิทยา สปป.ลาว มีฝ่ายงานที่ทำงานด้าน Ecology คาดว่าจะร่วมมือกันได้อย่างดี หลังจากการประชุมหารือกัน ทาง สวทช. ได้เสนอให้นักวิจัยของไบโอเทค ไปเยือน สปป.ลาว ในรูปแบบการจัดสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อเป็นการกระจายความรู้งานวิจัยไทยให้กับนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีทางชีวภาพและนิเวศวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากทางนักวิจัย สปป.ลาว สนใจอยากเข้าร่วมสำรวจความหลากหลายของเชื้อรา แมลง ในพื้นที่ป่า ทาง สวทช. ยินดีที่จะช่วยเหลือเรื่องการสำรวจเชื้อราในธรรมชาติ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัย ไทย – ลาว จะได้มีหาแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ประเทศไทยมีทุนให้ศึกษาต่อทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยนักวิจัยของ สวทช. สามารถเป็นที่ปรึกษางานวิจัยได้

2. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) มีความพร้อมที่จะสนับสนุนบุคคลากรของ สปป.ลาว ที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการฉายรังสีในภาคอุตสาหกรรม และงานวิจัยด้านนิวเคลียร์ และการป้องกันอันตรายจากรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส. เสนอให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลการนำเข้าและ ส่งออกวัสดุกัมตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ระหว่าง ไทย – ลาว โดยยึดถือรูปแบบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ โดยให้หน่วยงานกำกับทั้ง 2 ประเทศมาร่วมหารือกันว่า ควรมีการแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้าก่อนจะมีการส่งออกจากไทย เพื่อให้ทาง สปป.ลาว รับทราบและเตรียมพร้อมในการรับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ทางกรมวิทยาศาสตร์ สปป.ลาว ควรแจ้งผู้ประสานงานและให้จัดทำแผนงานโครงการร่วมกันกับ สทน. และ ปส.

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม หรือ Joint Committee (JC) ตามที่ระบุใน MOU เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ณ เวียงจันทร์ โดยทาง สปป.ลาว ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 2 ฝ่าย หารือรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม หรือ JC เพื่อเป็นกลไกในการติดตามความร่วมมือภายหลังการลงนาม อาจมีการประชุมหารือทุกปี เพื่อติดตามความร่วมมือ สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาจจะมีการประชุมหารือกันทุกๆ 2 ปี เพื่อรับทราบผลความร่วมมือการดำเนินงาน ซึ่งทาง สปป.ลาว ได้เสนอกลไลในการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ปรึกษาหารือการทำงานร่วมกันและรายงานผลให้ JC ทราบ

2. จัดส่งข้อเสนอให้โครงการเพื่อให้ JC พิจารณา

3. ดำเนินโครงการความร่วมมือตามแผน

4. สรุปการดำเนินงานให้ JC ทราบ ทุก 6 เดือน

5. ประเมินผลการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ การประชุมหารือในวันนี้ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-ลาว โดยมีหน้าสำคัญ อยู่ 2 ประการ คือ การสร้างโครงการที่มีการขับเคลื่อน ที่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน และมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหา โดยจะมีการจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพข่าวและวีดีโอ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3732 โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ