(17 มกราคม 2558) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษาฯ นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยฯ รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร และคณะ เดินทางมายัง Astro Park เพื่อตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้าง Astro Park แหล่งความรู้สาธารณะทางดาราศาสตร์และอวกาศ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและเยาวชน ณ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
อุทยานดาราศาสตร์ (Astro Park) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในแผนที่นำทาง (Road Map) ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะเป็นศูนย์เชื่อมโยงการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสถาบันไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศูนย์กลางความร่วมมือทางดาราศาสตร์ในประชาคมอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์พัฒนานักวิจัยระดับสูงทางด้านดาราศาสตร์และเป็นศูนย์วิจัยทางด้านดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ บ่มเพาะเยาวชนทางด้านดาราศาสตร์และพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ให้การอบรมทางด้านดาราศาสตร์ในระดับชาติเพื่อพัฒนาครูผู้สอนวิชาดาราศาสตร์ทั่วประเทศ อบรมทางดาราศาสตร์ระดับนาชาติเพื่อรองรับการเข้าร่วมกับดำเนินการด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประเทศในประชาคมอาเซียน สร้างเสริมความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยใช้ดาราศาสตร์เป็นสื่อเพื่อเป็นแหล่งความรู้สาธารณะทางดาราศาสตร์และอวกาศ ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและเยาวชน
อุทยานดาราศาสตร์เป็นศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ และการให้บริการข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างหอดูดาวแห่งชาติ กับหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับหอดูดาวของสถาบันที่ตั้งอยู่ที่ Cerro Tololo International Observatory (CTIO) ประเทศสาธารณรัฐชิลีภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย North Carolina โดยผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ความร่วมมือกับหอดูดาวเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น
โครงสร้างของอุทยานดาราศาสตร์ ประกอบด้วย
- อาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์
- อาคารพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ไทยและส่วนนิทรรศการ
- อาคารฉายดาว
- อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ตัวอาคารครอบด้วยโดมทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวเป็นกล้องที่มีความทันสมัย มีขีดความสามารถสูงสามารถรองรับการวิจัยในระดับเบื้องต้นได้ ระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ (sliding roof) ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง ใช้ในการให้บริการดูดาวและใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าจำนวน 4-6 กล้อง
- อาคารหอประชุมและสัมมนา ห้องประชุมอเนกประสงค์ 2 ห้อง ความจุ 100 และ 200 ที่นั่ง
- ห้องคอมพิวเตอร์สำหรับฝึกอบรมและการสืบค้นข้อมูล ห้องสมุดดาราศาสตร์
- ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง (amphitheatre) ใช้ในการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การดูดาว ได้ถึง 500 คน
ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4268--astro-park-.html
ที่มา: http://www.thaigov.go.th