ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง สร้างทดแทนโรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของชุมชนบ้านช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เนื่องจากสถานที่คับแคบ ไม่สามารถก่อสร้างขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้ ผู้ป่วยในมีจำนวนมากกว่าเตียงที่มีอยู่ โดยเฉพาะในฤดูฝนต้องเสริมเตียงจนล้นออกมาในบริเวณทางเดิน ส่วนแผนกผู้ป่วยนอก แออัด มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 324 ราย
ในปีงบประมาณ 2555 - 2557 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณรวม 126ล้านบาทเศษ ก่อสร้างโรงพยาบาลแม่แจ่มแห่งใหม่ และยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ(2 เมษายน 2558) โดยได้ย้ายสถานที่ไปก่อสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุ และที่ดินป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ รวม 90 ไร่เศษ อยู่ห่างจากโรงพยาบาลแห่งเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในจำนวน 2 หลัง รวม 99 เตียง เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข การก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2557 ได้พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา” พร้อมกับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลฯและพระราชทานชื่ออาคารผู้ป่วยในพระราชทาน ว่า “อาคารพระราชทาน 7 และ อาคารพระราชทาน 8” หอผู้ป่วยดังกล่าวมีระบบส่งออกซิเจนตามท่อ มีห้องพิเศษควบคุมและปลอดเชื้อ 2 ห้อง และพระราชทานครุภัณฑ์ เตียงผู้ป่วย อุปกรณ์การแพทย์ อาทิเช่น เครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องดูดของเหลวง เครื่องมือในงานกายภาพบำบัด ฯลฯ อีกทั้งทรงโปรดเกล้าให้จัดตั้งมูลนิธิ “เทพรัตนเวชชานุกูล” เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลประชาชนในเขตทุรกันดาร ของ อ.แม่แจ่ม โดยได้ย้ายและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงพยาบาลเทพรัตเวชชานุกูลฯ แห่งนี้ ได้รับการสนับจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมชลประทาน จัดสร้างแหล่งน้ำใช้ในโรงพยาบาล สวทช. วางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกแบบสิ่งแวดล้อม จัดสวน ให้เป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “โรงพยาบาลสีเขียว” (Green Hospital) สำหรับอ.แม่แจ่มมีพื้นที่ขนาดใหญ่อันดับที่ 4 ของประเทศ และเป็นลำดับที่ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรประมาณ 60,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ในปี พ.ศ.2557 มีประชาชนใช้บริการ เป็นผู้ป่วยนอก 96,062 ราย ผู้ป่วยใน 4,623 ราย ร้อยละ 70-80 เป็นชาวเขา
20 มกราคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th