ตนในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 65 จังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวนโยบายตามแผนในภาพรวมของประเทศ โดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีผู้แทนชุมชน ภาคประชาชน องค์กร มูลนิธิเข้าร่วมดำเนินการ และให้จังหวัดเร่งสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนทรัพยากรกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งแผนระดมพลดับไฟป่าให้เป็นปัจจุบันสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการบูรณาการด้านการควบคุมป้องกัน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนการฝึกซ้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ควบคุมการเผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และห้ามเผาหญ้าในบริเวณริมทางโดยเด็ดขาด สำหรับในพื้นที่เกษตรกรรมให้การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แทนการเผา การใช้เทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การเผาในที่โล่ง การใช้วัตถุไวไฟ การปล่อยโคมในช่วงเทศกาล เป็นต้น
ด้านการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุไฟป่า โดยประสานและสนธิกำลังในพื้นที่ ร่วมกับ ท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยทหารในพื้นที่ ในการปฏิบัติการ กรณีเกิดวิกฤติไฟป่า ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง กำชับให้เจ้าหน้าที่ กวดขัน ตรวจตรา ลาดตระเวน ดูแล ไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด และให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ ยานพาหนะ อุปกรณ์ดับเพลิง กู้ภัย ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดไฟป่า จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาจร่วมสนธิกำลังกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และอาสาสมัครอื่นเข้าร่วมปฏิบัติงาน และขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ งดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าโดยเด็ดขาด รณรงค์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกัน การปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟป่ารวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรวม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน และตากที่ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติ ไฟป่าและหมอกควันรุนแรงเป็นประจำทุกปี ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภายในกลุ่มจังหวัดอย่างใกล้ชิด โดยให้กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในช่วงวิกฤติหมอกควันตามความเหมาะสมของสถานการณ์และความรุนแรงของแต่ละจังหวัด ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เพื่อไม่ให้มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งให้เร่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งของประชาชน ราชการ รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทั้ง 65 จังหวัด ดำเนินการตามแผนและมาตรการป้องกันเฝ้าระวัง และระงับไฟป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากพื้นที่ใดเกิดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันรุนแรงให้รายงานมายังส่วนกลางทันทีเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th