พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า ปัญหาขอทานเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคู่กับสังคมไทยมานาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ได้มีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรง มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี มีการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สำหรับปี ๒๕๕๗ มีจำนวนขอทานที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งต่างๆ ถึง ๒๘๙ คน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯไปแล้ว ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๔–๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ และวันที่ ๑๙–๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยมีการบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงต่างๆ ในการดำเนินงานจัดระเบียบคนขอทาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชนต่างๆ ซึ่งการจัดระเบียบขอทานทั้งสองครั้ง พบว่า มีผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ จำนวนทั้งสิ้น ๔๓๑ คน เป็นขอทานไทย จำนวน ๑๙๐ คน และขอทานต่างด้าว จำนวน ๒๔๑ คน โดยมีขอทานต่างด้าวมากกว่าคนไทย
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐในระยะเฉพาะหน้า เพื่อเร่งสร้างอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานต่างชาติ การท่องเที่ยวที่เน้นบริการทางเพศและเด็กและปัญหาคนขอทาน โดยกระทรวง พม.ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก และร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานจัดระเบียบคนขอทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการทั่วประเทศในปี ๒๕๕๘ ดังนี้ ๑)แนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาใช้หลัก ๓ P ได้แก่ ๑.๑)การบังคับใช้กฎหมาย (Policy)เช่น การปรับปรุงกฎหมาย การจัดระเบียบจัดทำทะเบียนข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูล ขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ ๑.๒)การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เช่น การจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ การคัดแยกเหยื่อจากการ ค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์ และ ๑.๓)การป้องกัน(Prevention)ให้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ให้ความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านกฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมเครือข่าย พม.เป็นแกนนำเฝ้าระวัง ทำ MOU เครือข่ายแก้ปัญหาขอทานต่างด้าว ๒)การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.)จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการจัดระเบียบคนขอทาน ๓)การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการจัดระเบียบคนขอทาน ขอให้ประสานหน่วยงานร่วมปฏิบัติ จัดเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมาประจำเพื่อร่วมอำนวยการ ๔)ขอความร่วมมือให้จังหวัดดำเนินการจัดระเบียบคนขอทาน พร้อมกันทั่วประเทศ ๕)จังหวัดดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการขอทานให้ต่อเนื่อง ๖)ขอให้สรุปผลการดำเนินงานจัดระเบียบคนขอทาน และรายงานให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทราบเป็นระยะ ๗)ในการปฏิบัติงานขอให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องของพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบคนขอทานอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน และ ๘)ขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องทุกเดือน
"การประชุมครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดระเบียบขอทานพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ ๒๖–๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการขอทานในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการให้ที่ถูกต้อง คือการให้โอกาส ให้การฟื้นฟูและช่วยเหลือ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th