นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศประมาณ 1.2 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 60 และตลาดส่งออกกว่า 9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศไทย (ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2556) โดยครองส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 40 เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ความชำนาญ และคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการ ในกลุ่มเครื่องสำอางไทย ทั้งประเทศมีประมาณ 762 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็กประมาณ 520 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ขนาดกลาง 220 ราย หรือร้อยละ 29 และธุรกิจขนาดใหญ่ 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า ผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในตลาดเสรีย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน อาทิ ต้นทุนการผลิต นวัตกรรม ของผลิตภัณฑ์ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้จัดตั้งคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้มีความเข้มแข็งและประสานความร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพร่วมกันซึ่งเป็น 1 ใน 68 คลัสเตอร์ที่ทาง กสอ. ได้ส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster Development) ตั้งแต่ปี 2549 โดยกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมชา จังหวัดเชียงราย กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จังหวัดกระบี่ กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ กรุงเทพฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเพชรเกษม เป็นต้น นายกอบชัย กล่าว
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยและการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาสร้างนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่จะบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและกิจกรรมจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) กลางน้ำ (MiddleStream) และปลายน้ำ (Downstream) จะส่งผลให้การประกอบธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสากล
นายสิระ หล่อทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอนสันแอนด์จาคอบส์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ สกินแคร์ แฮร์แคร์ เมคอัพ ตลอดจนผลิตภัณฑ์เฮาส์โฮล หรือของใช้ในบ้าน อย่างไรก็ตามกว่าร้อยละ 85 เป็นประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยวัตถุดิบที่นำเข้านั้นบริษัทฯพิจารณาตามความต้องการของการสั่งซื้อจากผู้ผลิตเป็นหลัก สำหรับเทรนด์ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต คือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Product) โดยเฉพาะพืช และสมุนไพร เช่น สารสกัดจากสาหร่ายทะเล สารสกัด จากสมุนไพร เนื่องจาก เฮลตี้เทรนด์ (Healthy Trend) กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการเกือบทุกอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไลฟ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น หันมาเลือกใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติแท้จริงที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง โดยกลุ่มลูกค้าที่สั่งซื้อวัตถุดิบจากบริษัทฯ ร้อยละ 80 เป็นผู้ผลิตแบบ OEM นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทีมนักวิจัยที่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อการสนับสนุนงานวิจัยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การเลือกใช้วัตถุดิบ ตลอดจนคิดค้นสูตรเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและตลาดโลก
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การค้าและการลงทุนรวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กสอ.จึงได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางกับ 3 ภาคี ได้แก่ กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประกอบการซัพพลายเออร์เครื่องสำอางขึ้น ในวันพุธที่ 21 มกราคม 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 โดยมีคณะผู้บริหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกคลัสเตอร์เครื่องสำอางร่วมงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางและความงามชั้นนำของไทย กว่า 50 แบรนด์สินค้า อาทิ จัส โมเดิร์น (Just Modern) สโนว์เกิร์ล (SnowGirl) โพรฟสกิน (Profskin) เนเจอร์ริช (Naturerich) และ อเมโทส (Amartos) เป็นต้น นำมาลดราคาสูงถึงร้อยละ 50-80 รวมทั้งยังมีการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสมาชิกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยกับบริษัทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด (24 Shopping Co.,Ltd. ในเครือ CP All) อีกด้วย นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทร. 0 2202 4575, 4581 และสามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม โครงการ ต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr
สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4575 , 4581 / ข้อมูล
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4414- 18 / เผยแพร่
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์- JC&CO PUBLIC RELATIONS –
ณภัทร กาญจนะจัย / +6681-355-9221 / napatk@jcpr.co.th
เนติมา นิจจันพันศรี /+6686-756-3939/ netiman@jcpr.co.th
** MEDIA HOTLINE :02-634-4557/ 081-486-3407 (ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์)**
ที่มา: http://www.thaigov.go.th