(ภานบน/ภาพถ่ายดาวหางเลิฟจอย Comet Lovejoy (C/2014 Q2) โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)คืนวันที่ 11 มกราคม 2558 ณ บริเวณดอยอินทนนท์ โดยสามารถสังเกตเห็นส่วนของหัวดาวหางที่มีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า "โคมา"เห็นเป็นสีเขียวได้ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งรายละเอียดของ "หางแก๊ส" ที่มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ แต่กล้องถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพส่วนของหางไว้ได้)
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางเลิฟจอย โดยจะมองได้อย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ใกล้โลกและมีความสว่างมาก ความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ 4 - 5 ดาวหางดวงนี้ได้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่ระยะห่าง 70 ล้านกิโลเมตร และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 30 มกราคม 2558
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสังเกตดาวหางเลิฟจอย สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวนและมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดี หรือหากใช้กล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าหรือกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับผู้เริ่มต้นสังเกตอาจใช้ตำแหน่งกลุ่มดาวนายพรานเป็นหลัก จากนั้นในทิศทางเดียวกันจะสังเกตเห็นกลุ่มดาววัว หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อดาวธงและที่ตำแหน่งใกล้กันจะสามารถสังเกตเห็นกระจุกดาวลูกไก่ โดยตำแหน่งของดาวหางจะปรากฏอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ห่างไปประมาณ 10 องศา ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ในช่วงเดือนมกราคมจะสามารถสังเกตดาวหางได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ทางทิศตะวันออก ดาวหางจะมีการเปลี่ยนแปลงระยะทางเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน โดยจะเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาววัว กลุ่มดาวแกะ และกลุ่มดาวสามเหลี่ยม สามารถสังเกตได้ตลอดทั้งเดือนมกราคมนี้ และหลังจากดาวหางโคจรผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 30 มกราคม 2558 ความสว่างของดาวหางจะเริ่มจางลงเล็กน้อย นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนมกราคมตั้งแต่วันที่ 26 จะมีผลกระทบจากแสงของดวงจันทร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังเกตดาวหางได้ยากขึ้น ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ดาวหางจะอยู่ระหว่างกาแล็กซีแอนโดรเมดากับกลุ่มดาวเพอร์เซอุส และจะค่อยๆ จางหายไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หากพลาดชมดาวหางในครั้งนี้ ต้องรอไปถึง 8,000 ปี จึงจะโคจรกลับมาใกล้โลกอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามดาวหางเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้าที่น่าสนใจและหาชมได้ยากเท่านั้น ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อโลกทั้งสิ้น
ดาวหาง คือ วัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีแกนกลางหรือเรียกว่า “นิวเคลียส” มีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งสกปรก มีองค์ประกอบได้แก่ น้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย ฝุ่นกับหินแข็งปะปนกัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร เมื่อดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์จะเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีหาง แต่เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ซึ่งแผ่รังสีความร้อนออกมาก น้ำแข็งเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊ส โดยด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะมีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียส เรียกว่า "โคมา" ซึ่งอาจมีรัศมีหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร ลมสุริยะหรืออนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จะปะทะโคมาให้ปลิวไปยังด้านหลังกลายเป็น "หาง" ยาวนับล้านกิโลเมตร
หางของดาวหางมี 2 ชนิดคือ หางแก๊สและหางฝุ่น "หางแก๊ส" มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ มีสีฟ้าเกิดจากแก๊สของดาวหางได้รับพลังงานดวงอาทิตย์แล้วคายประจุออกมา ส่วน "หางฝุ่น" เกิดจากมวลของดาวหางที่พ่นออกมาจากนิวเคลียส มวลเหล่านี้เคลื่อนที่โค้งไปตามทิศทางที่ดาวหางโคจร เมื่อดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็จะสูญเสียมวลไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดทั้งดวง
ข้อมูลจาก : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
E-mail: [email protected]
www.narit.or.th; www.facebook.com/NARITpage
twitter: @N_Earth
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : [email protected]
Facebook : sciencethailand
http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4279--qq-8-.html
ที่มา: http://www.thaigov.go.th