ก.วิทย์ฯ รุก ใช้ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม หวังปฏิรูปบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 16:44 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทย์ฯ รุกใช้ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม ปฏิรูปบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ พร้อมวางแผนป้องกันภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที “นายกฯ” กำชับ วท.จัดทำโรดแมพเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในแนวทางการบูรณาการใช้งานภาพถ่ายจากการสำรวจระยะไกล ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอไปนั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว เป็นแผนปฏิรูป 1 ใน 5 ด้าน ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ คือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อทรัพยากร อันเป็นแนวทางนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรของประเทศอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถวางแผนป้องกันก่อนเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งองค์ประกอบของการดำเนินการเป็น 3 ส่วน คือ ระบบคลังภาพถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียมแห่งชาติ ซึ่งกระจายตามหน่วยงานแต่เชื่อมโยงและให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน และ 2. คือศูนย์ข้อมูลแนวเขตและรูปลักษณ์ที่มีกฎหมายรองรับ เช่น แปลงที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินของรัฐ ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์ ที่ดินทำกินที่ได้รับอนุญาต ผังเมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาคาร ระบบสาธารณูปโภค สุดท้ายคือ ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ภัยพิบัติ การบุกรุกป่าไม้และที่ของรัฐ การเพาะปลูกและคาดการณ์ผลผลิต แหล่งน้ำ มลพิษและอุบัติภัยทางบกและทะเล การใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ

“เพื่อให้ประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมในภารกิจของหน่วยงานต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งจากการลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ การเพิ่มผลผลิตของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพและธรรมภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบในแนวทางการบูรณาการใช้งานภาพถ่ายจากการสำรวจระยะไกล นอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรียังได้กำชับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งจัดทำโรดแมพเทคโนโลยีเพื่ออนาคตสำหรับเรื่องนี้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน” ดร.พิเชฐ กล่าว

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กล่าวว่า ปัจจุบันภาพถ่ายที่ได้จากการสำรวจระยะไกลของประเทศถูกนำไปใช้งานหลักมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือการจัดทำแผนที่หลักของประเทศ โดยการนำรูปลักษณ์บนพื้นผิวโลกมาถ่ายทอดลงบนกระดาษหรืออุปกรณ์การแสดงผลอื่น ๆ โดยให้สัดส่วนและความถูกต้องในเชิงตำแหน่งใกล้เคียงกับความจริงให้มากที่สุด ซึ่งการจัดทำแผนที่มักจะใช้ภาพถ่ายรายละเอียดสูงมากจากเครื่องบินที่บินถ่ายภาพทางอากาศที่ระดับความสูงต่ำกว่า 10 กิโลเมตร ประกอบกับการสำรวจรังวัดภารพื้นดินเป็นเครื่องมือหลัก และ 2.การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก เนื่องจากการจัดทำแผนที่มาตรฐานนั้นถึงแม้จะมีความถูกต้องเชิงตำแหน่งสูง แต่ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานต่อวงรอบการถ่ายภาพซ้ำที่เดิม ทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก การทำให้ได้ข้อมูลที่ทันต่อเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้ข้อมูลดาวเทียมประเภทต่าง ๆ ที่โคจรเคลื่อนที่อยู่ที่ระดับความสูง 500-1,000 กิโลเมตร จนถึงดาวเทียมประจำที่ที่ระดับความสูงกว่า 30,000 กิโลเมตร จากพื้นโลก ติดตั้งกล้องถ่ายภาพเชิงแสง ระบบเรดาร์และระบบเซนเซอร์อื่น ๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศและนอกประเทศ

ผอ. GISTDA กล่าวว่า ข้อมูลภาพถ่ายและแผนที่จากการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมและอากาศยานของประเทศที่สำคัญในปัจจุบันได้มาจาก ดาวเทียมไทยโชตของประเทศไทย ซึ่งเป็นดาวเทียมเชิงแสงรายละเอียดสูง 1 ดวง ดาวเทียมสาธารณะของต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นระบบเชิงแสงหลายช่วงคลื่นรายละเอียดปานกลางและต่ำ ทั้งที่เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำและดาวเทียมประจำที่ซึ่งประเทศไทยมีสถานีรับสัญญาณข้อมูลโดยตรงเมื่อดาวเทียมเหล่านี้โคจรผ่านมายังประเทศไทย จำนวน 7 ดวง ดาวเทียมเชิงพาณิชย์ระบบเรดาร์ที่ประเทศไทยมีสถานีรับสัญญาณข้อมูลโดยตรงจากดาวเทียมจำนวน 5 ดวง ดาวเทียมพาณิชย์เชิงแสงรายละเอียดสูงและสูงมากที่ GISTDA มีสัญญาซื้อสัญญาณภาพจากสถานีรับของเจ้าของดาวเทียมในต่างประเทศ จำนวน 12 ดวง จากฝูงบินถ่ายภาพทางอากาศ ประกอบด้วยเครื่องบินของกรมแผนที่ทหารจำนวน 3 ลำ และของกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ มีกล้องเพื่อรองรับภารกิจการทำแผนที่และการหาข่าวต่าง ๆ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินเพื่อสนับสนุนการถ่ายภาพจากระยะไกล ประกอบด้วยโครงข่ายหมุดหลักฐานหลักที่มีค่าพิกัด 3 แกน ของกรมแผนที่ทหารและกรมพัฒนาที่ดินซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศ สถานีอ้างอิง ตำแหน่งโดยใช้ระบบดาวเทียมนำทาง จำนวน 35 สถานี ของกรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุทกศาสตร์ กรมแผนที่ทหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ GISTDA

ต่อจากนั้น ดร.พิเชฐ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า จากการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมและทางอากาศในด้านต่างๆ อาทิเช่น การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรการปกครอง การใช้แผนที่ในการจัดเก็บภาษี โดยการใช้เครื่องบินสำรวจทางอากาศถ่ายเก็บข้อมูล เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ในภาวะน้ำท่วม GISTDA มีส่วนช่วยในการค้นหาพื้นที่สำหรับการอพยพประชาชนและสิ่งของไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบหาพื้นที่ที่พร้อมจะได้รับเงินเยียวยา เป็นต้น

เขียนข่าวโดย : ทีมงานโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์,นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3700 โทรสาร 02 333 3834

http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4281-2015-01-21-07-29-59.html

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ