ก.แรงงาน เตรียมความพร้อม รับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 13:44 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน สัมมนาการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วางแนวทางการบริหารจัดการด้านแรงงานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงานอยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้แรงงานเพื่อนบ้านสามารถใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เข้ามาขออนุญาตทำงานได้ในลักษณะไปกลับหรือตามฤดูกาล

นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการศึกษาและกล่าวถึงมานานแล้วในประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เหมาะสมกับศักยภาพและการพัฒนาของประเทศทั้งหมด ๑๒ พื้นที่เป้าหมาย ครอบคลุม ๑๐ จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย นครพนม หนองคาย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยระยะแรกกำหนดใน ๕ พื้นที่ชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา (ด่านศุลกากรสะเดา และปาดังเบซาร์) รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ๓ ชุด เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง และคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานด่านศุลกากร ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในชุดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง มีหน้าที่ในการเสนอแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว การพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการจัดตั้ง One – stop Service แรงงานต่างด้าว

กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจรับผิดชอบในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และการพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นว่าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเชิงกายภาพและการบริหารจัดการ ที่อาจมีกฎระเบียบแตกต่างจากกฎระเบียบของประเทศไทยในภาพรวม ซึ่งแรงงานเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม ทั้งเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับสภาพข้อเท็จจริง การกำหนดแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษะไปกลับ การจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว โดยครอบคลุมงานด้านสาธารณสุขและตรวจคนเข้าเมือง การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยบริเวณชายแดน และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการคุ้มครองแรงงานและการป้องกันการค้ามนุษย์หรือการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

นายนครฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ยกเว้นแรงงานเป็นกรณีพิเศษให้แรงงานเพื่อนบ้านสามารถใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เข้ามาขออนุญาตทำงานได้ในลักษะไปกลับหรือตามฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอน พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า จากที่รัฐบาลประกาศให้จังหวัดตากเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ราคาที่ดินที่สูงขึ้นกว่า ๑๐ เท่าตัว ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาที่ดินให้กับนักลงทุน อาทิ ป่าเสื่อมโทรม ป่าชุมชน พื้นที่ดินของรัฐ โดยเป็นการให้เช่าพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนในการลงทุน ส่วนความต้องการแรงงานไม่สามารถกำหนดได้ อยู่ที่ความชัดเจนของรัฐบาลและสิทธิประโยชน์การจูงใจนักลงทุนมากน้อยเท่าไร แต่ขณะนี้สิทธิประโยชน์ยังไม่จูงใจนักลงทุน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ