ในช่วงเช้า เป็นการบรรยายภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐฯ โดยนางสาววิมล ชาตะมีนา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นางสาวเยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง กรมบัญชีกลาง และนายณัฏฐพล อารีประเสริฐสุข นักบัญชีชำนาญการพิเศษ สำนักมาตรฐานด้านการบัญชีภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
นางสาววิมล ชาตะมีนา กล่าวว่า การตราพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐฯ มีจุดประสงค์เพื่อให้มีกฎหมายแม่บทใช้กำกับวินัยการเงินการคลังหน่วยงานของรัฐแบบบูรณาการ โดยเป็นกฎหมายเพื่อควบคุม การใช้ช่องทางนอกงบประมาณของรัฐบาลในการหลีกเลี่ยงวินัยการคลัง และเพื่อให้การบริหารการคลังของหน่วยงานของรัฐ ที่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ กองทุนสาธารณะ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันจะเป็นการเสริมสร้างวินัยทางการคลังของประเทศอย่างยั่งยืน โดยในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะประกอบด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการคลัง การวางแผนการคลังระยะปานกลาง การจัดหารายได้ การกำหนดแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การบริหารการเงินและทรัพย์สิน การบัญชี กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินหรือภาระทางการเงิน และหลักเกณฑ์การกำหนดวงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
นางสาวเยาวนุช วิยาภรณ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดกรอบวินัยการคลังในด้านการจัดการด้านรายได้ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน การกู้ยืมหรือการก่อหนี้สาธารณะ รวมทั้งการบริหารการเงินและทรัพย์สิน ทำให้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ควรพิจารณาร่วมกับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคลัง เช่น พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้น โดยร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐฯ ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน กองทุนสาธารณะที่เป็นนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำนิยาม “กรอบวินัยการเงินการคลัง” เป็นการเฉพาะ แต่จะพิจารณาเป็นกรณี นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินทุนหมุนเวียน และร่างพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้การดำเนินงานหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น
นายณัฏฐพล อารีประเสริฐสุข กล่าวว่า แนวโน้มหรือทิศทางของมาตรฐานการบัญชีของภาครัฐระหว่างประเทศ และมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ จะมีมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากมาตรฐานบัญชีภาครัฐในปัจจุบันได้พัฒนาระบบบัญชีเป็นเกณฑ์คงค้าง ซึ่งจะช่วยให้การจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินของภาครัฐมีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น โดยในร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐฯ ได้กำหนดให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรฐานการบัญชี ที่หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งยกเว้นรัฐวิสาหกิจ จะต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนั้น กระทรวงการคลังจะต้องจัดทำรายงานการเงิน ของหน่วยงานของรัฐ รายงานการเงินรวมของแผ่นดิน และรายงานการเงินรวมภาครัฐ รวมทั้งจะต้องจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ เพื่อเสนอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการเงินจะต้องได้รับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยในการกำกับและตรวจสอบให้การทำงานของหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใสและรักษาวินัยทางการคลังเพิ่มขึ้นได้
การสัมมนาในช่วงบ่ายหัวข้อ “เงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย (Negative Income Tax: NIT) กับมิติใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนไทย” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ (1) ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2) ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (3) นายเส่ง สิงห์โตทอง ผู้ตรวจราชการ กรมการพัฒนาชุมชน (4) รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปประเด็นการสัมมนาได้ ดังนี้
ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความยากจนของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในเชิงเปรียบเทียบ ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้กลับไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควร จะเป็น จึงเกิดคำถามที่ว่างบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำนั้น มีประสิทธิภาพหรือไม่ จึงต้องมีการระบุตัวผู้ได้รับประโยชน์หรือตัวคนจน (Means-testing) เพื่อให้ การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ โดยผลการศึกษาพบว่าการให้เป็นเงินสดมีประสิทธิภาพมากกว่าการอุดหนุนประเภทอื่น โดยการนำระบบ Negative Income Tax (NIT) มาใช้ ซึ่งเป็นการนำภาษีและระบบสวัสดิการ มารวมกันโดยผู้ได้รับการช่วยเหลือต้อง “ทำงาน” เท่านั้น (Workfare) เพื่อจูงใจให้คนทำงาน จึงจะได้รับเงินโอนจากรัฐบาล ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ เริ่มนำระบบ NIT มาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยสรุป NIT จะสามารถช่วยลดความยากจนได้โดยใช้ระบบภาษีกับสวัสดิการเข้าด้วยกันและสามารถสร้างแรงจูงใจ ให้คนทำงานมากขึ้นอีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการรักษาวินัยการคลังของภาครัฐ
ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล เห็นว่า ระบบสวัสดิการสังคมที่ดีเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศคาดหวัง แต่ปัหาคือการขยายตัวของรายจ่ายด้านนี้จะกระทบต่องบประมาณของรัฐด้านอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมก่อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะรายจ่ายสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือ คนจน โดยการระบุหาตัวคนจนขึ้นมาให้ได้ก่อน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในการช่วยเหลือคนจน มีประสิทธิภาพและเกิดการรั่วไหลในระบบให้น้อยที่สุด โครงการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อยเป็นการผนวกรายจ่ายสวัสดิการช่วยคนจนเข้ากับระบบภาษีเงินได้ผ่านการยื่นแบบแสดงรายได้ โครงการนี้จะมีประโยชน์ ต่อระบบภาษีเงินได้คือทำให้ทราบข้อมูลเงินได้ของผู้ที่จะได้รับเงินโอน ซึ่งจะเป็นการขยายฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอนาคต
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เห็นว่า เรื่องนี้เป็นความก้าวหน้าของระบบภาษี โดยหลักการเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าของระบบภาษี ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนจน ซึ่งปัจจุบันกลไกของภาครัฐที่มีอยู่ออกแบบไว้ยังไม่ดีพอ ซึ่งเห็นว่าการช่วยเหลือประชาชนแบบถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศใช้กับด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขเท่านั้น ดังนั้นในเรื่องของการช่วยเหลือคนจนจำเป็นที่ต้องมีการออกแบบที่ดีเพื่อไม่ให้ภาระ ทางการคลังสูงกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาประชานิยม ดังนั้นโครงการนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงเป้า แต่ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดี ซึ่งปัญหาปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในระบบยังยื่นแบบแสดงภาษีน้อยกว่า ที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลควรศึกษาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด
นายเส่งสิงห์โตทอง เห็นว่าปัญหาของประเทศคือการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ได้ใช้วิธีหลายรูปแบบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเป็นการช่วยเหลือแบบการให้เงินอย่างไร้จุดหมายและ ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ดังนั้นการที่จะทำให้คนหายจนต้องสอนให้คนใช้เงินให้เป็น ดังนั้น โครงการ NIT จึงน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้
กล่าวโดยสรุป การสัมมนาเตรียมความพร้อมฯ ในช่วงเช้า เป็นการบรรยายถึงความสำคัญและรายละเอียดของพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ รวมถึงมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและรายงานทาง การเงินของภาครัฐต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมวินัยการคลังไปพร้อมกันด้วย ในขณะที่การสัมมนาในช่วงบ่าย เงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทย และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ อีกทั้งยังสร้างความเป็นธรรม ในสังคม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือการปลูกฝังค่านิยมของการใช้จ่ายเงินที่ถูกต้อง รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านรายได้ที่แท้จริงของคนไทย เพื่อช่วยสนับสนุนให้นโยบายดังกล่าวบรรลุผลได้จริง
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th